คุยกับผู้กำกับกอล์ฟ ธัญญ์าริน ถึงที่มา กรณีศึกษา และสิ่งน่ารู้จาก Insects in the Backyard

เมื่อ Insects in the Backyard หรือ “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” ของผู้กำกับกอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ได้เข้าฉายโรงอย่างเป็นทางการเสียที ด้วยเรต ฉ.20 ตามที่ผู้กำกับตั้งใจ หลังจากที่หนังถูกห้ามฉายมาเป็นเวลา 7 ปี เราจึงได้ขอสัมภาษณ์ผ่านทางหลังไมค์ของเฟซบุก เพื่อให้คุณกอล์ฟได้ช่วยเล่าให้เราฟังอีกครั้งถึงที่มาของหนังเรื่องนี้ เพราะผู้ชมบางท่านอาจลืมไปแล้วจากเมื่อ 7 ปีก่อนครับ

ความที่หนังเล่าเรื่องผ่านสัญลักษณ์ด้วย ตั้งแต่ชื่อหนังเลย เราก็ขอให้ผู้กำกับช่วยอธิบายให้ฟังเผื่อท่านที่ชมมาแล้วหรือยังไม่ได้ชมอย่างเข้าถึงความพิเศษเหล่านี้ รวมถึงแนวทางในการสร้างโลกของตัวละครในหนัง

การที่ต้องต่อสู้ยาวนานเพื่อให้หนังได้ฉาย ก็เป็นสิ่งที่น่าใคร่รู้ว่าคุณกอล์ฟได้เรียนรู้อะไรจากการต่อสู้ด้วย อย่างหนึ่งที่รู้สึกขอบคุณในตัวคุณกอล์ฟก็คือ การต้องการให้หนังเรื่องนี้เป็น “กรณีศึกษา” เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปสำหรับคนทำหนังที่จะใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้ในอนาคต และได้ให้ผู้มีอำนาจในการพิจารณาภาพยนตร์ได้เรียนรู้เรื่องการใช้มันด้วยครับ

สุดท้ายสำหรับใครที่รอคอยผลงานเรื่องต่อไปของคุณกอล์ฟ เรามีข่าวดีบอกมาในบทสัมภาษณ์เช่นกัน อ่านทั้งหมดได้ตามด้านล่างนี้เลย

Insects in the Backyard ยังคงฉายอยู่ที่เฮาส์ RCA ในสัปดาห์นี้ครับ ไปให้กำลังใจหนังเรื่องนี้กันได้

จากชื่อหนัง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” หรือ “Insects in the Backyard” เป็นการเปรียบเปรยว่า มนุษย์ทุกคนนั้นแตกต่างกันเหมือนแมลงต่างๆ แต่ทุกคนก็คือแมลงที่อยู่ในสวนหลังบ้านเดียวกัน ผมเข้าใจถูกไหมครับ แล้วที่มาของชื่อหนังเรื่องนี้มายังไงครับ ได้แนวคิดอะไรมาตอนตั้งชื่อนี้

ทุกคนเป็นแมลง ใช่แล้ว!!! แต่ไม่ใช่แมลงทุกตัวจะได้รับการยอมรับให้ไปอยู่หน้าบ้านอย่างออกหน้าออกตา แมลงมนุษย์นั้นถูกกำหนดให้มีแค่สองเพศ ดังนั้นแมลงตัวไหนที่แตกต่างจากนั้นก็ต้องไปอยู่หลังบ้านเท่านั้น!!!!

อยากทราบที่มาเบื้องหลังเรื่องราวของหนังครับ คุณกอล์ฟพบอะไรมาในชีวิต หรือมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ครับ

กอล์ฟเจอกับประสบการณ์ตรงมากับตัวเองเลยคือ กอล์ฟมีหลานผู้ชายอายุ 7 ขวบ อยู่คนนึงลูกน้องชายซึ่งแม่กอล์ฟรับมาเลี้ยงเพราะพ่อแม่แยกทางกัน วันนึงกอล์ฟก็รับเขามาอยู่บ้านกอล์ฟที่กรุงเทพ ให้เขาอาบน้ำ และเอาเสื้อผ้าให้ใส่ เขาไม่ยอมใส่ บอกว่าไม่ใส่เสื้อผ้าตุ๊ด!!! ตอนนั้นเจ็บปวดมาก และคิดทันทีว่า สังคมทำอะไรกับหลานฉันวะเนี่ย เราเป็นเลี้ยงเขามา เรารักเขา เขารักเรา แต่อะไรทำให้เขารู้สึกรังเกียจเรา จนพูดคำนั้นออกมา เราตระหนักได้ทันทีว่า เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราจะปล่อยให้แม้แต่คนที่เรารัก คนในครอบครัวโดนสร้างความเชื่อผิดๆ สร้างกำแพงความเกลียดชังเหล่านี้ขึ้นมาไม่ได้!!!

ผมเห็นฉากการตกแต่งบ้านจากตัวอย่างหนัง ที่บางทีเน้นสีเขียว ที่จริงแล้วเพื่อให้เข้ากับ “สวนหลังบ้าน” ที่เป็นชื่อหนังรึเปล่าครับ หรือจริงๆ แล้วไม่ได้คิดอะไรแบบนั้นเลย

ใช่เลย!!! เราเลือกบ้านหลังนี้เพราะความเขียว เพราะความแปลกประหลาดของมัน มันให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ มันช่วยขับเน้นตัวละครให้เด่นชัดขึ้น

ผมเห็นคุณกอล์ฟสร้างตัวละครให้บางครั้งแต่งตัวเหมือนนักแสดงฮอลลีวู้ดในยุคทอง เหมือนออเดรย์ เฮปเบิร์น ใน Breakfast at Tiffany’s ผมอยากรู้แนวความคิดเบื้องหลังการสร้างหรือครีเอทตัวละครออกมาในลักษณะนี้ครับ ทำไมต้องออเดรย์ เฮปเบิร์น และ มันสะท้อนอะไรในเรื่องราว

จริงๆเป็นที่ชอบความสวยงามของดาราฮอลีวูดยุคเก่าเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แล้วพอตอนคิดสร้างคาแรคเตอร์ขึ้นมาว่าเป็นกะเทยนักเขียนนิยายเซ็กส์ นางต้องอยู่กับจินตนาการตลอดเวลา เลยให้นางตกอยู่ในห้วงหนังฮอลลีวู้ดไปด้วย นางอยากสวยเป็นออเดรย์ นางทำอาหารฝรั่ง นางสูบบุหรี่ นางดื่มไวน์ นางแต่งหน้าอยู่บ้าน ซึ่งเราคิดว่ามันช่วยสร้างความมีมิติของตัวละคร ธัญญ่า ได้เป็นอย่างดี

หนังเรื่องนี้เพิ่งได้เข้าฉาย หลังจากถูกห้ามฉายมา 7 ปี คิดว่าเนื้อหาในหนังจะยังร่วมสมัยกับปีนี้อยู่ไหมครับ หรือมีเนื้อหาแปลกใหม่อยู่ไหมครับ เพราะระหว่าง 7 ปีที่ผ่านมา ก็มีซีรี่ส์, ละคร หรือหนังที่เกี่ยวกับ LGBT ออกฉายตามมาหลายเรื่องเหมือนกัน
การที่หนังได้ฉายปีนี้หลังจากผ่านมา 7 ปี เรารู้สึกว่ามันกำบังดีเลย กำลังร่วมสมัยมากๆ เพราะถ้าฉายเมื่อก่อนคนอาจจะเหวอเหมือนกับที่คณะกรรมการเรตติ้งก็ได้ อาจจะรับไม่ได้ แต่มาวันนี้ เรามีเฟซบุกกันทุกคน เฟซบุกสามารถแสดงถึงตัวตนและรสนิยมทางเพศของผู้คนนสังคมได้ดี มันจึงเป็นการทำให้สังคมได้รับรู้ เรียนรู้ชีวิตคนอื่นๆที่มีความหลากหลายอยู่ในสังคม จนทำให้แม้แต่สื่อกระแสหลักต่างๆเองก็ได้สร้างซีรี่ส์ หนัง ละคร ที่มีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น มีมิติมากขึ้น และมีคนรับชมมากขึ้นด้วย

อ่านบทสัมภาษณ์ที่คุณเต๋อ นวพล คุยกับคุณกอล์ฟ เรื่องการที่หนังเรื่องนี้ถูกแบน สามารถหาเหตุผลย้อนไปได้ถึงเรื่องระบบการศึกษาเลย คิดว่าเพราะการศึกษาของเราสอนให้ไม่เข้าใจในความแตกต่างไหมครับ และคิดว่า “Insects in the Backyard” จะถือเป็นการให้การศึกษาผ่านหนังรูปแบบหนึ่งได้ไหมครับ

ใช่ๆ รากฐานของปัญหาของคนไทยที่ไม่ยอมรับและเข้าใจในการอยู่ร่วมกันด้วยความแตกต่างนั้น เริ่มมาจากพื้นฐานทางการศึกษา การศึกษาไทยสอนให้คนคิดไม่เป็นทำให้เป็นผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใหญ่ในระดับปกครองของหน่วยงานต่างๆทั้งในสถานศึกษา กระทรวงทั้งหลายนั้นก็คือผลผลิตของระบบการศึกษา เมื่อตัวเขาไม่เข้าใจก็จะคิดแทนคนอื่นในสังคมว่าจะคิดเองไม่เป็น ดังเช่น การเรียนการสอนวิชา ศิลปะ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนวาดรูปตามสิ่งที่ครูบอก สิ่งที่ตาเห็น สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ถ้าใครก๊อบปีได้เหมือนสุดก็จะได้คะแนนดีๆ ใครที่คิดหรือจินตนาการไปไกลกว่าสิ่งที่เห็นแล้ววาดออกมาไม่เหมือนก็จะโดนด่าประณามหน้าชั้นเรียนและได้คะแนนน้อย ซึ่งมันคือการปลูกฝังให้เด็กไม่กล้าคิดนอกกรอบ เป็นการฆ่าตัดตอนการใช้สมองที่กำลังเจริญเติบโตที่ใช้จินตนาการของเด็ก ซึ่งประโยชน์ที่แท้จริงของการเรียนศิลปะนั้นเพื่ออะไร คุณครูยังตอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ การเรียนศิลปะนั้น คือ การกระตุ้นให้เด็กใช้จินตนาการในการคิด การมองโลก มองสังคม มองตัวเองและผู้อื่น การดูงานศิลปะสักชิ้น ดูหนังสักเรื่อง แล้วผลัดกันแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความรู้สึก แบบไม่มีถูกผิดนั้น จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เข้าใจผู้อื่นในสังคม ทำให้สามารถเข้าใจและรับรู้ถึงความแตกต่างและหลากหลายของคนในสังคม นี่แหละประโยชน์ของศิลปะที่ใช้ยกระดับจิตใจของคนได้ ดังนั้นเราคิดว่า หนัง แมลงรักในสวนหลังบ้าน ก็น่าจะสามารถมีส่วนช่วยให้คนที่ได้ดูได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างและหลากหลายของมนุษย์ได้

คุณกอล์ฟเคยบอกว่า ไม่อยากปล่อย ว่า “Insects in the Backyard” ออนไลน์ และตั้งใจสู้คดีเพื่อให้หนังได้ออกฉายโรงเพื่อเป็น “case study” อยากให้อธิบายเพิ่มเติมถึงเจตนาในการสู้คดีครับ

ตอนที่หนังโดนแบนมีหลายคนยุให้ปล่อยหนังในออนไลน์ แต่เราปฏิเสธเพราะเราคิดว่า ถ้าเราฟ้องสังคมน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าตัวเรา คือ ณ ตอนนั้นพ.ร.บ.นี้เพิ่งประกาศใช้ ยังไม่เป็นที่รู้จักและเข้าใจต่อสังคม ทั้งประชาชน ทั้งคนทำหนัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าผู้ใช้กฎหมาย เมื่อเกิดกระบวนการฟ้องร้อง คนในสังคมก็เกิดคำถามและเกิดความสนใจเรื่องแบนหนังเป็นวงกว้าง และสื่อต่างๆก็ต่างหาข้อมูลเพื่อมานำเสนอเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกับสังคม

ในส่วนคนทำหนังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเองก็เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายนี้มากขึ้นว่าที่เราเรียกร้องให้ได้เรตติ้งมานั้นมันไม่ใช่เหมือนกับที่เราต้องการตั้งแต่แรกนะ เราจะได้เลิกวาดฝันว่าเราจะมีสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกของเรานะ เพราะเราได้รู้ความจริงว่ากฏหมายนี้ออกมาเพื่อควบคุม จำกัด และริดรอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกนะ เพราะมันมีทั้งเรตติ้งและเรตแบนและห้ามฉาย เราก็ต้องเซลฟ์เซ็นเซอร์ชิพตัวเองกันไป แต่ประโยชน์ของการฟ้องเพื่อเป็นกรณีศึกษาครั้งนี้ก็ยังเกิดกระบวนการเรียนรู้ของคณะกรรมการเรตติ้ง คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติด้วยว่าอำนาจที่คุณมีในมือในการคิดแทนคนดูหนังทั้งประเทศนั้นคุณจะใช้มันแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ คุณต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและมีเหตุผลอย่างละเอียด และอีกทั้งศาลปกครองเองก็ได้มีประสบการณ์ในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการแบนหนังเป็นครั้งแรกอีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในการฟัองครั้งนี้คือ การทบทวนการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินขอบเขตของคำว่า “ศีลธรรมอันดี”

คุณกอล์ฟพอจะบอกได้ไหมครับว่า มีแผนอะไรอยู่สำหรับผลงานเรื่องต่อไปครับ เราจะได้ดูหนังเนื้อหา LGBT จากคุณกอล์ฟอีกไหมครับ

แน่นอน ตอนนี้กอล์ฟมีโปรเจคท์หนังเรื่อง “สวรรค์ในอก Down to Heaven” ที่กอล์ฟจะ กำกับ เขียนบท และ แสดงนำ อีกครั้ง

คุณกอล์ฟคิดว่าทำไมผู้ชมควรไปดูหนัง Insects in the Backyard เรื่องนี้ในโรงครับ
อยากให้คนดูเปิดใจรับหนังเรื่องนี้ การเข้ามาดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกับได้เข้ามาทำความรู้จักคนคนนึงซึ่งคุณอาจจะไม่รู้มาก่อนว่ามีเขาอยู่บนโลกใบนี้ อยากให้มาดูด้วยตา แล้วค่อยตัดสินด้วยหัวใจ

Leave a Reply