Site icon JEDIYUTH

คนทำหนังเตรียมขอให้ใช้กฎหมายกำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์เพื่อกู้วิกฤติหนังไทย

img_1367มีหมายเชิญสื่อมวลชนไปทำข่าววันพุธที่ 11 มกราคม (พรุ่งนี้) จากเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ เรื่อง “ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤติการณ์” (via @deknang) ซึ่งผู้ที่จะมาร่วมงานมีตั้งแต่ ผู้กำกับชาติชาย เกษนัส (ถึงคน…ไม่คิดถึง), ผู้กำกับบุญส่ง นาคภู่ (ธุดงควัตร), ผู้กำกับธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (ปั๊มน้ำมัน), ผู้กำกับเจนไวย ทองดีนอก (ความสุขของกะทิ) ตัวแทนของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, พัชร เอี่ยมตระกูล ตัวแทนจาก HAL ค่ายจัดจำหน่ายหนังอิสระ โดยมี สุภาพ หริมเทพาธิป ดำเนินการพูดคุย งานจะจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เวลา 14.00 น.-15.00 น. ครับ

เท่าที่ทราบมาจากแหล่งข่าว ข้อเรียกร้องที่เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จะพูดคุย มีตั้งแต่เรื่องการขอลดภาษี การขอให้ทางรัฐช่วยดำเนินการให้ภาคเอกชนเพิ่มโรงฉาย และเพิ่มระยะเวลาฉายให้แก่หนังไทย (รายละเอียดคงชัดเจนมากขึ้นว่ามีอะไรบ้างในวันพรุ่งนี้) แต่ในนั้นจะรวมถึงการบังคับให้ใช้กฎหมายภาพยนตร์ หรือ “พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑” โดยเฉพาะในมาตรา ๙ (๕) ที่ระบุว่า “ออกประกาศกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์” หรือสรุปก็คือ ให้บังคับใช้กฎหมายที่แต่เดิมมีอยู่แล้ว ในการกำหนดโควต้าว่าโรงหนังในประเทศจะต้องฉายหนังไทยปีหนึ่งๆ ในจำนวนมากแค่ไหน และห้ามต่ำกว่านั้น

ตามรายงานจาก ThaiPBS บอกว่ากฎหมายดังกล่าว มีภาษาอังกฤษว่า “Screen Quotas” ประเทศแรกที่ประกาศใช้ก็คืออังกฤษ ในปี 1927 ซึ่งหลังจากมีการกำหนดประมาณการนำเข้าหนังจากฮอลลีวู้ดแล้วก็ทำให้หนังในประเทศได้เติบโต ทั้งในแง่การผลิตและคุณภาพ จนปัจจุบันสู้กับฮอลลีวู้ดได้

เกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศที่มีการกำหนดใช้กฎหมายนี้ โดยเริ่มใช้ในยุค 60 ที่มีการกำหนดว่าโรงหนังในประเทศจะต้องฉายหนังเกาหลีใต้ 146 วันต่อปี เป็นผลให้รายได้ของหนังในประเทศมีมากขึ้น มีการผลิตหนังในประเทศมากขึ้น มีการสร้างหนังที่มีคุณภาพมากขึ้น และเกิดผู้กำกับเก่งๆ ตามมาอีกหลายคน เชื่อกันว่าผู้กำกับปาร์คชานวุคจาก OldBoy ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตของกฎหมายนี้ เพราะเมื่อครั้งที่สหรัฐบีบบังคับให้ผ่อนปรนการใช้กฎหมาย ก็ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่จากทุกฝ่ายของอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ผู้กำกับปาร์คชานวุคไปยืนถือป้ายประท้วงในเทศกาลหนังเบอร์ลินเมื่อปี 2006 ว่า “No Screen Quota=No Oldboy” (ไม่มีกฎหมายโควต้าการฉายก็ไม่มีหนัง Oldboy)

ประเทศที่ยังใช้กฎหมายคล้ายกันนี้อย่างเข้มงวดในปัจจุบันนี้ ก็คือประเทศญี่ปุ่น โรงหนังที่ญี่ปุ่นยังต้องฉายหนังในประเทศเป็นหลัก มีการกำหนดจำนวนหนังจากต่างประเทศที่เข้าฉาย หนังฮอลลีวู้ดบางเรื่องจะฉายช้ากว่าทั่วโลกหลายเดือน และช่วยให้หนังในประเทศได้กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดในแต่ละปีด้วย

จีนเองก็ยังเป็นอีกประเทศที่ยังใช้กฎหมายนี้อยู่ในแง่กำหนดจำนวนนำเข้าหนังจากต่างประเทศว่าปีหนึ่งจะฉายได้กี่เรื่อง ฮอลลีวู้ดต้องหาทางนำหนังเข้าฉายให้มากขึ้น โดยการให้จีนมาร่วมทุนสร้าง หรือจ้างงานจากคนในวงการภาพยนตร์จีน เพื่อเป็นช่องว่างในการได้เข้าฉายในประเทศ กฎหมายนี้เองก็ช่วยให้วงการหนังจีนได้พัฒนาทั้งในแง่การผลิต และในแง่งานสร้าง ทำให้คนในวงการอุตสาหกรรมของจีนได้กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกกันมากขึ้น

แต่ข้อเสียก็ยังเป็นเรื่องคุณภาพของหนังในประเทศ หากว่าผู้สร้างไม่พัฒนาตัวเอง กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีประโยชน์ และทำให้ผู้ชมหมดโอกาสได้ชมหนังจากต่างประเทศที่คุณภาพดีกว่า หรืออาจทำให้ผู้จัดจำหน่ายเลือกเฉพาะหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดมาฉายเพียงอย่างเดียวเมื่อถูกกำหนดโควต้าการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ ลดการนำเข้าหนังฟอร์มเล็กที่อาจหาได้ในวงแคบๆ เราก็อาจจะได้ชมหนังฮอลลีวู้ดที่เน้นเทคนิคพิเศษเป็นหลัก

ผู้อ่านเว็บไซต์คิดยังไงกันบ้างครับ ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว คิดว่าอุตสาหกรรมหนังไทยในบ้านเราจะฟื้นตัวขึ้นไหม จะสร้างผู้กำกับเก่งๆ คนทำหนังเก่งๆ แบบของเกาหลีใต้ได้ไหม จะมีหนังไทยทำเงินในแต่ละปีสูงๆ และมีงานสร้างใหญ่ๆ มากขึ้นแบบจีนไหม หนังไทยฟอร์มเล็กที่ได้ฉายตามเทศกาลต่างๆ หรือฉายในวงแคบๆ ตามโรงหนังอาร์ตเฮาส์ แต่ไม่ค่อยได้ฉายในบ้านตัวเองจะมีโอกาสมากขึ้นไหมครับ


Exit mobile version