ผู้กำกับเอกลักญ แห่ง “RedLife” เล่าถึงความยาก อุปสรรค และการเตรียมฉากรถตกคลองในหนัง

แม้จะพึ่งมีผลงานกำกับหนังเป็นครั้งแรก และเป็นการนำร่องให้ค่ายหนังที่เพิ่งก่อตั้งใหม่อย่าง BrandThink Cinema ผู้กำกับ เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งค่ายหนังนี้ด้วย ก็เลือกที่จะทำงานที่ท้าทายและแหวกตลาดหนังไทยยุคนี้ด้วย “RedLife” ครับ ที่เราเรื่องราวชีวิตขม ๆ ว่าด้วยการเอาตัวรอดของคนจนเมืองในย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นหนังสะท้อนปัญหาชีวิตและเผยด้านสมบุกสมบันของชีวิตที่เท่าที่นึกออกนั้น เรื่องล่าสุดก็คือ “เสียดาย” ของท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ออกฉายปี 2537 ครับ (อาจมีเรื่องหลังจากนี้อีก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเด่นที่อยู่ในความทรงจำ)
แต่ไม่เพียงเลือกประเด็นหนังที่ท้าทายเท่านั้น ก็ถ่ายทำบางฉากของหนังก็ยาก อันตราย เสี่ยง เต็มไปด้วยอุปสรรค และแทบไม่เคยมีหนังไทยทำมาก่อนเช่นกัน ซึ่งถ้าใครได้ดูตัวอย่างหนัง “RedLife” ก็จะได้เห็นนั้นด้วย เป็นฉากหนึ่งที่อาจกลายเป็นฉากจำของหนังก็ได้ นั่นก็คือฉากที่รถยนต์ตกลงไปในคลองผดุงกรุงเกษม ฉากนี้ถือเป็นฉากที่หินที่สุดฉากหนึ่งในการถ่ายทำ เพราะเป็นการที่ไปถ่ายในสถานที่จริงที่อาจเกิดการผิดคิวจากอุปสรรคภายนอกได้ ทำให้ต้องมีการเตรียมการนานมาก ผู้กำกับเอกลักญ กรรณศรณ์ ได้เล่าถึงความยากของฉากนี้ให้เราฟัง
“ซีนนั้นเป็นซีนที่…ความที่ทั้งเรื่องเนี่ย เราพยายามจะถ่ายทำในสถานที่จริง ซีนนั้นเราก็ถ่ายทำกันในบริเวณสถานที่จริงด้วย แถวๆ สลัมแนวตั้งย่านเมืองเก่าซึ่งเอาจริงเป็นย่านที่ถ่ายทำกันยากอยู่แล้ว แล้วเราก็ไปถ่ายทำซีนแอ็คชั่นเข้าไปอีก ในเวลากลางคืนอีก ใช่ไหมฮะ ก็มีความลำบากสูงมาก แล้วก็มันเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะมันมีตรอกเล็กๆ เยอะมาก ต่อให้เราบล็อคดีแค่ไหน มันก็อาจเกิดมีมอเตอร์ไซค์วิ่งออกมา และซีนนั้นก็มีการซ้อม มีการวางแผน มีการเตรียมการกับทีมสตันต์ กับทีมโปรดักชั่นดีไซต์ (ออกแบบงานสร้าง) และก็ทีมเอฟเฟ็คทั้งหมด และก็มีการเตรียมการกันนานมากเลย”
ยังมีอีกอุปสรรคครับที่ทำให้ฉากนี้ยากมากขึ้นไปอีก นั่นก็คืองบประมาณ “และก็ด้วยงบประมาณ ด้วยเวลาในการถ่ายทำ ซีนนั้นมันจำเป็นที่จะต้องถ่ายทำให้เสร็จเร็ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ด้วยงบประมาณและอะไรหลายอย่าง”
และอย่างที่เกริ่นบอกในตอนต้นครับว่าเป็นฉากที่ไม่เคยมีใครถ่ายทำมาก่อน นั่นแปลว่ามันไม่เคยมีต้นแบบการทำงานเอาไว้ให้ดูเมื่อพยายามศึกษาวิธีถ่ายทำฉากนี้ ทุกอย่างจึงต้องคิดคำนวณเอง
“และมันก็มีอีกเงื่อนไขหนึ่งก็คือ ด้วยการที่รถตกลงไปในคลองผดุงฯ เนี่ย เราก็เช็กกับคนทำหนังหลายๆ ที่เนอะ ตั้งแต่หนังฮอลลีวูดมาถ่ายเมืองไทย ปรากฏว่าไม่เคยมีใครถ่ายซีนที่มีรถตกลงไปในคลองผดุงฯ เราอาจจะเป็นเรื่องแรกๆ มันทำให้เราประเมินไม่ได้ว่า ไอ้รถที่ตกลงไปเนี่ย แล้วเราจะดึงขึ้นมาเนี่ย มันจะมีอุปสรรคอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้วเราก็ได้แต่จินตนาการว่าความลึกของคลองเท่าไหร่ จำได้ว่าตอนดึงขึ้นมาเนี่ย ตอนแรกทีมก็คุยกันว่าน่าจะใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง แต่พอประเมินไปประเมินมา มันอาจใช้เวลาถึงสี่ชั่วโมงก็ได้ ก็เลยเป็นที่มาให้วันนั้นบีบให้เราต้องถ่ายเทคนั้นให้ได้ภายในเทคเดียว แล้วก็ใช้สลิงลากยาวเป็นหลักร้อยเมตรน่ะครับ แล้วก็ดึงให้รถมีความเร็วกระทบฟุตบาทแล้วก็ตกลงไปในคลอง”
ใช่แล้วครับ ซีนดังกล่าวใช้สลิงดึงให้รถตกลงไป ใครที่ห่วงความปลอดภัยของทีมสตันต์จึงเบาใจได้
“จำได้ถ่ายตอนนั้นก็พยายามทำตามเบรคแล้ว ก็ประมาณเที่ยงคืน เรามีซีนที่ต้องไปถ่ายทำในถนนไล่ล่าอีกถึงตีห้า คือถ้าถ่ายซีนนี้เทคเดียวไม่ได้แปลว่า เราอาจจะถ่ายไม่จบ เราต้องยก(กอง) มันจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการปิดถนน คิวทุกอย่างอะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็ตั้งกล้องในมุมที่เราคาดหวังว่ามันจะดีที่สุด อะไรแบบเนี่ย สปีดกล้องที่ใช้ แล้วเราก็…ทำตามที่เราเทสต์(ทดลอง)กันมา แล้วมันก็ได้ในเทคเดียว”
การที่ฉากดังกล่าวไม่ค่อยได้เห็นในหนังไทย ก็เป็นทั้งเพราะเรื่องงบประมาณและความอันตราย แต่ผู้กำกับก็เห็นถึงความจำเป็นว่าต้องมี “ต้องพูดตามตรงว่า ด้วยงบประมาณหนังไทย และก็ด้วยเนื้อเรื่อง การมีซีนนี้เป็นซีนที่โปรดิวเซอร์ทุกคนจะอยากตัดออก (หัวเราะ) เพราะว่างบประมาณ ความยาก ความเสี่ยง ไม่นับอุบัติเหตุ หรือว่า…ใช่ไหมฮะ ทุกเรื่องเลย มันก็เป็นเรื่องที่ยาก แต่เราก็พยายามทอนเรื่องอื่นๆ ลง ตามสิ่งที่เรามองเห็นตรงกันว่าเราต้องทอน เรารู้สึกว่าซีนนี้เป็นซีนที่แบบ…มันเป็นมิดพอยท์ของหนัง และผมอยากรู้สึกให้มันมีไฮไลท์อะไรบางอย่างที่มันเป็นที่จดจำสำหรับคนดู ก็เลยคิดว่าเราลองดีล ไปคุยกับกล้อง ทุ่มพลกำลัง ทุ่มงบประมาณ ทุ่มเวลาให้กับซีนนี้อะไรแบบเนี่ย”
ผู้กำกับยังเล่าเพิ่มเติมถึงการเตรียมการฉากนี้ด้วยว่าเริ่มตั้งแต่สตอรี่บอร์ดเลย และต้องให้เป๊ะที่สุด แม้ว่าถ้าเป็นฉากอื่นนั้น สตอรี่บอร์ดมีเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้นครับ
“ตอนที่เราทำก็เลยต้องเตรียมการตั้งแต่เบรคสตอรี่บอร์ด ที่จริงหนังเรื่องนี้ ผมมีสตอรี่บอร์ดทั้งเรื่อง เพียงแต่ว่าสตอรี่บอร์ดที่ผมมี มันเป็นคล้ายๆ กับแผนที่ในการทำงานเฉยๆ แต่ว่าไอ้วันที่เราจะไปถ่าย ผมพร้อมจะเปลี่ยน ตากล้องอาจจะเสนออะไรใหม่ เราไปเจอสถานที่จริง หรือบรรยากาศนั้น ความรู้สึกนั้น เราอาจจะอยากปรับแองเกิลมัน หรือย่อยสตอรี่บอร์ด ซึ่งเราทำแบบนั้นกับหลายๆ ซีน ไม่ได้ยึดกับสตอรี่บอร์ดที่เราทำ เพียงแต่ว่าซีนรถนี่ไม่ได้ ต้องเป๊ะที่สุด วิชวลที่เรามีต้องถูกส่งออกมาเป๊ะที่สุด ต้องไม่มากเกินไป เพราะว่าจะใช้เวลาเยอะ และก็ต้องไม่น้อยเกินไปจนรู้สึกว่ามันเล่าเรื่องไม่ได้ เอาไม่อยู่ และก็มีการพูดคุยอย่างที่บอก เตรียมการลงไปดูสถานที่จริง นั่งวางแผน มีทีมสตันท์มานั่งคุยกันสองครั้งก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำ ก็เป็นการเตรียมการที่เราคิดว่าเราเตรียมดีที่สุดแล้ว”
นอกจากฉากเด่นที่เราเล่าเบื้องหลังให้ฟังไปแล้วที่น่าจะเป็นฉากที่ผู้ชมชอบ ผู้กำกับก็บอกด้วยว่าเนื้อหาของหนังน่าจะเป็นอีกอย่างที่ผู้ชมจะชอบครับ
“ที่จริง ผมว่ามันเป็นหนังดราม่าทริลเลอร์ (ชีวิตปนเขย่าขวัญ) และก็สิ่งที่ผมพยายามสร้างก็คือว่า…ผมพยายามจะเล่าประเด็นสังคมที่มันเป็นฐานของเนื้อเรื่อง ซึ่งที่จริงเป็นประเด็นที่หนักนะครับ แต่ว่าเราเล่ามันผ่านเรื่องราวของหนังรักวัยรุ่น ที่เป็นหนังรักวัยรุ่นสองตัวละครชื่อส้มกับเต๋อ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นคู่คอนทราสต์ (คู่ที่ตรงข้ามกัน) ที่น่าสนใจดี และพอมันมาอยู่ด้วยกัน มันก็เป็นทางของหนังซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นมาบ่อยนักในหนังไทยช่วงหลังๆ ก็รู้สึกว่ามันเป็นรสชาติที่แปลก เป็นคอมบิเนชั่น (ส่วนผสม) ที่แปลกดีครับ”
“RedLife” เล่าเรื่องราวความรักของกลุ่มวัยรุ่นที่หลายคนไม่เคยมองเห็น บนเส้นทางชีวิตที่พวกเขาต้องดิ้นรนเอาตัวรอดพอๆ กับที่ต้องไขว่คว้าหาความรัก โดยจะพาผู้ชมออกเดินทางไปสัมผัสชีวิตของตัวละครหลักอย่าง ‘เต๋อ’ (แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์) โจรกระจอกที่หาเงินด้วยการปล้นเพื่อสร้างชีวิตใหม่กับ ‘มายด์’ (จ๋อมแจ๋ม-กานต์พิชชา พงษ์พานิชย์) สาวขายบริการที่เขาทุ่มเทความรักให้ แต่ยิ่งเต๋อพยายามเพื่อรักมากเท่าไรก็ยิ่งพบว่าตัวเองกำลังพาชีวิตของเขาและมายด์ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ ‘ส้ม’ (ซิดนีย์-สุพิชชา สังขจินดา) ลูกสาวคนเดียวของ ‘อ้อย’ (กรองทอง รัชตะวรรณ) โสเภณีข้างถนนที่ชีวิตต้องเปลี่ยนไปหลังตกหลุมรัก ‘พีช’ (ฝ้าย-สุมิตตา ดวงแก้ว) รุ่นพี่ไอดอลสาวผู้ทิ้งเรื่องราวปริศนาไว้ และทำให้ส้มได้รู้จักกับความรักที่ต้องแลกมาด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิด
หนังเข้าฉายแล้วครับ
[บทความได้รับการสนับสนุน]