Skip to content

“หุ่นพยนต์” เลื่อนฉายไม่มีกำหนด หลังได้เรต ฉ.20

image via Five Star Production

หลังจากที่หนัง “หุ่นพยนต์” ของไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ได้เรตฉ.20 จากคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ซึ่งห้ามผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าชม และจะต้องมีการตรวจบัตรประชาชนที่หน้าโรง ทางค่ายหนังจึงได้ตัดสินใจเลื่อนฉายหนังสยองขวัญเรื่องนี้ไปอย่างไม่มีกำหนดครับ ทำให้หนังหมดโอกาสที่จะเข้าฉายในบ้านเรา 9 มีนาคมนี้ ตามที่มีการวางแผนเอาไว้

ไฟว์สตาร์ได้ออกแถลงอย่างเป็นทางการถึงเรื่องนี้ ซึ่งดูเหมือนมีความไม่เห็นด้วยถึงการจัดเรตติ้งของคณะกรรมการพิจารณาฯ แต่ก็จำเป็นต้องทำตามและหาทางปรับปรุงหนังใหม่เพื่อให้ได้เรตที่เหมาะสมครับ ข้อความบนแถลงมีดังนี้

“นับเป็นข้อสงสัยไม่น้อยสำหรับการจัดเรตติ้ง 20- ที่ภาพยนต์อย่าง “หุ่นพยนต์” ได้ รับจากกองเซ็นเซอร์ ซึ่งอาจดูสวนทางกับกระแสตอบรับจากผู้ชมที่มาเข้าชมในรอบกาล่าพรีเมี่ยร์เมื่อคืนที่ผ่านมา ทุกคนที่มาชมภาพยนตร์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นหนังที่สนุกครบรส ที่ไม่ควรได้เรตติ้ง20- และส่งผลให้ดังสนั่นทั่วโลกออนไลน์ถึงความไม่เหมาะสมของเรตติ้งที่ได้รับ เหมือนเป็นการจำกัดสิทธิ์ผู้ชมเกินไปมั้ย โดยภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ บอกเล่าเรื่องราวของความเชื่อและความไม่เชื่อ เดินเรื่องผ่านตัวละครอย่าง ธาม, เต๊ะ, นิก ที่มีชีวิตมาเป็นเดิมพันเพราะถ้าเล่นกับความงมงาย ท้าทายกับศรัทธา ต้องกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น บอกผ่านกิเลสความจริงของมนุษย์ที่มีด้านมืดแฝงตัวอยู่ ซึ่งหนังเรื่องนี้ถูกดีไซด์ความหลอนชวนขนลุกให้เหมาะกับจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ ทางบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ฯ ขอประกาศเลื่อนฉายออกไปก่อน และขอส่งเซ็นเซอร์ใหม่เพื่อให้ได้เรตติ้งที่เหมาะสมกับภาพยนตร์ที่ควรได้รับ”

หนังเรื่องนี้นั้นมีนักแสดงที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นนำแสดง เป็นต้นว่า ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน, อัพ ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง, นิก คุณาธิป ปิ่นประดับ และ เจมส์ ภูริพรรธน์ เวชวงศาเตชาวัชร์ ซึ่งการที่หนังให้เรต ฉ.20 ย่อมทำให้ผู้ชมที่เป็นเป้าหมายหลักของหนังที่อยากมาดูนักแสดงของพวกเขาอดที่จะไปดูหนัง และย่อมส่งผลต่อจำนวนของผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงหนังอย่างมาก และส่งผลต่อรายได้ของหนังตามมา นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้สร้างต้องให้ทางปรับเปลี่ยนให้มากพอเพื่อให้หนังได้เรตอย่างน้อย น.18 ซึ่งเป็นเรตที่อนุญาตให้ผู้ชมทุกวัยเข้าชมได้ เพียงแต่ให้คำแนะนำว่าหนังเหมาะสำหรับผู้ที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป

ผู้สร้างไม่ได้ระบุว่าการปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ เพียงแค่นำไปตัดต่อใหม่ หรือต้องถ่ายซ่อมใหม่ เพื่อเป็นไปตามสิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาฯ ต้องการครับ

หนังได้ส่งเข้าไปให้ตรวจแล้วครั้งหนึ่งก่อนมีรอบสื่อเมื่อวานนี้ และได้เรตห้ามฉาย โดยมีการระบุถึงฉากที่แก้ไขใหม่ เช่น ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์, ตัดฉากเณรชกต่อยให้ผ้าเหลืองและมีคำหยาบให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้, ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้ฉากหนึ่ง, ตัดฉากท่องศีล (ข้อ 2) ในขณะที่ฆ่าคนขโมยของ, ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อต๊ะทาน และยังมีข้อสังเกตว่า พระหรือเณรต้องโกนคิ้ว แต่ทั้งเรื่องไม่มีพระเณรโกนคิ้วเลย

หลังจากที่ทางผู้สร้างได้บันทึกดังกล่าวมาก็ได้มาทำการตัดต่อใหม่เพื่อแก้ไขตามที่มีมติออกมา แต่ก็กลายเป็นว่าทางคณะกรรมการพิจารณาฯ ให้เรตฉ.20 ครับ แทนที่จะได้เรตต่ำกว่าตามที่ผู้สร้างหวัง ทำให้ผู้สร้างแสดงออกถึงความไม่พอใจ “กองเซ็นเซอร์บอกว่าหนังเราไม่ควรฉาย มีฉากทำให้กระทบความมั่นคงของประเทศ และสร้างความแตกแยกในสังคม อยากจะบ้าตาย ใช้เหตุผลตรงไหนตัดสิน กับผลตรวจ รอบ 2 ให้เรตติ้งมา 20+” พิชชาภา ณรงค์พันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ จำกัด บอกผ่านเฟซบุกหลังจากทราบผล

เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร ผู้อำนวยการสร้างของหนัง ก็ได้แสดงความเห็นบนทวิตเตอร์อย่างเดือดดาลว่า “ภาพยนตร์ไทยยังจำเป็นต้องมี กอง censor จัด rating อยู่ไหม? ในเมื่อสื่อtv วนข่าว carrot กันทุกวันแบบไม่มีข้อคิด ขาดกรมกองมาตัดสินควบคุม แต่ #หุ่นพยนต์ สร้างมาเพื่อสะท้อนสังคมและตีแผ่เชื่อแบบไม่งมงาย สอนศีลธรรมด้วยความบันเทิง กลับถูกตีตราโดยไร้มาตรฐานทางความคิด”

หนึ่งในผู้ที่ได้ชมหนังแล้วและได้ออกมาแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาฯ ก็คือ อ.ประวิทย์ แต่งอักษร หนึ่งในนักวิจารณ์ชั้นนำของบ้านเราครับ ซึ่งได้เขียนบทเฟซบุกถึงความลักลั่นในมาตรฐานที่คณะกรรมการให้หนังเรื่องนี้เรต ฉ.20 แต่ให้หนัง “Everything, Everywhere, All at Once” ที่มีฉากดิลโด้ ฉากแอ็คชั่นรุนแรง ด้วยเรตทั่วไป นี่เป็นส่วนหนึ่งที่อ.ประวิทย์เขียนไว้ครับ

“พูดแฟร์ๆ หนังมีฉากที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ปริมาณก็ไม่ได้มากมายอะไร หนังอย่างจอห์น วิค หรือลองของ สยดสยองกว่านี้เยอะ และส่วนที่เห็นจะแจ้งว่าเป็นปัญหาก็คือเรื่องเกี่ยวกับเณรในเรื่อง ซึ่งบางรูปหรือหลายรูป ก็มีพฤติกรรมคึกคะนอง เล่นของ ฝักใฝ่มนต์ดำ มีฉากชกต่อย ทะเลาะเบาะแว้ง มีตัวละครฝ่ายดี ตัวละครฝ่ายเลว แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของปมขัดแย้ง ความลี้ลับของหนังแนวลึกลับสยองขวัญ และข้อสำคัญ ตัวหนังหรือคนทำหนังก็ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจาบจ้าง กระด้างกระเดื่อง ให้ท้าย หรือสนับสนุนพฤติกรรมแต่อย่างใด ตรงกันข้าม บทสรุปมันก็เป็นไปในทำนองหนังไทยที่ยึดเหนี่ยวศาสนา หยิบยื่นหลักคิดในลักษณะสั่งสอนที่เราก็รู้ๆอยู่แล้วเรื่องความดีความชั่ว ศาสนาไม่ปกป้องคนผิดบาป และการให้รู้จักปล่อยวาง

เห็นได้ชัดว่าคนทำหนังไม่ได้อยากเปิดศึกกับ ‘เซนเซอร์’ และพูดตรงๆ ต้องการขายดาราวัยรุ่นจากซีรี่ส์วาย แต่ผลลัพธ์ของเรท ฉ20+ ก็เป็นกรณีที่น่าคิดจริงๆว่า คนจัดเรทใช้ดุลพินิจตัวเองผูกขาดความถูกต้องเหมาะควรในทางศาสนา และโดยไม่แคร์ว่าโลกความเป็นจริงนอกโรงหนังมันหมุนไปไกลแค่ไหน รวมถึงมองเห็นคนดู (ที่อายุต่ำกว่ายี่สิบ) เหมือนเด็กทารก คิดเองไม่ได้ ทั้งๆที่ในมุมมองส่วนตัว ประเด็นล่อแหลมทางศาสนาในหนังเป็นเรื่อง ‘หน่อมแน๊ม’ มากๆ อีกทั้งภาพและเนื้อหา (ตลอดจนลัทธิที่มีหลักคำสอนขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม) ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเล่าเรื่องที่นำคนดูเดินทางไปถึงตอนจบ และค้นพบแสงสว่างแห่งธรรมะตอนท้าย

ถ้าแค่นี้ยังได้เรท ฉ20+ หรือสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแบน หนังวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์ หรือการตีแผ่ความเสื่อมเสียในวงการศาสนาอย่างจริงจัง ก็ลืมไปได้เลย (เอหิปัสสิโก เป็นกรณีตัวอย่างที่หวุดหวิดเฉียดฉิว) และเชื่อว่าในอุตสาหกรรมหนัง ก็คงจะบอกต่อๆกันว่าเรื่องพระเรื่องเจ้าเป็นอีกหนึ่ง subject ที่ต้องห้ามหรือควรหลีกเลี่ยง กรอบเนื้อหาของหนังไทยก็จะยิ่งแคบลงไปอีก ผลสืบเนื่อง คนดูก็คงจะตามไปด่าเหมือนเดิมว่าหนังไทยมีแค่เรื่องน้ำเน่า ตลกปัญญาอ่อน ไม่สร้างสรรค์ การจัดเรทแบบนี้ยิ่งมีส่วนทำให้หนังไทยขาดความหลากหลายอย่างช่วยไม่ได้”

“หุ่นพยนต์” กำกับภาพยนตร์โดย ไมค์ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ และยังมีนักแสดงสมทบได้แก่ เอมี่-ทสร กลิ่นเนียม, ฮัท-ศิววงศ์ ปิยะเกศิน, เอ็ดดี้เฮง-สมยศ มาตุเรศ, กาโต้-ปัณณวิชญ์ พัฒนศิริ, ยูโร-วรัชต์ธิปต์ กิตติสิริไพศาล, แบงค์-ณฐวัฒน์ ธนทวีประเสริฐ, แบงค์-พงศกร มีชัย, เซน-จตุรวิชญ์ เชี่ยวประสิทธิ์, และ ปราชญ์ ปราชญ์รวี สีเขียว

ที่มา: ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

1 Comment »

Leave a Reply

%d bloggers like this: