Site icon JEDIYUTH

“เทอมสอง สยองขวัญ” จากเรื่องผีในมหา’ ลัยสู่หนังรวมเรื่องสยองของผู้กำกับดาวรุ่ง

จากแนวความคิดหนังรวมเรื่องสยองขวัญในมหาวิทยาลัยที่เคยถูกสร้างเป็นหนังเรื่อง “มหา’ลัย สยองขวัญ” ที่ออกฉายเมื่อปี 2552 สหมงคลฟิล์มฯ ได้ปัดฝุ่นแนวความคิดการสร้างหนังสยองขวัญในลักษณะนั้นอีกครั้งด้วย “เทอมสยอง สยองขวัญ” ที่จะออกฉาย 24 มีนาคมนี้ครับ พร้อมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กำกับดาวรุ่งที่แจ้งเกิดจากหนังสั้นมาได้แสดงศักยภาพของตัวเองบนจอใหญ่

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้ก็คือ จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ ผู้ควบคุมงานสร้างหนังที่เคยอยู่เบื้องหลังหนัง “สยามสแควร์” (2560) และ “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” (2563) ที่มองว่านักดูหนังชาวไทยน่าจะยังชอบหนังผีที่มาจากเรื่องเล่าต่างๆ อยู่ จึงได้เสาะหาเรื่องเล่าเหล่านั้นมาเป็นต้นความคิดในการสร้างหนังเรื่องนี้ครับ “แรกเริ่มทางทีมก็มีความสนใจว่าเรื่อง ‘ผีมหา’ลัย’ ในยุคนี้ยังมีการเล่าขานกันอยู่มั้ย คือเรารู้สึกว่าคนไทยน่าจะยังชอบฟังเรื่องผีอะไรพวกนี้กันอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน คนยุคนี้ก็มีแนวโน้มจะท้าทายอะไรก็ตามที่เป็น ‘ความเชื่อ’ กันมากขึ้น มันจึงน่าสนใจว่าเราจะเล่าเรื่องผีในยุคนี้ให้ต่างจากเดิมยังไง อะไรในเรื่องเล่าผีที่น่าจะยังทำให้คนกลัวอยู่ องค์ประกอบหรือกลไกของมันคืออะไร ทำให้เกิดการเสาะหาเรื่องเล่าสยองที่โดดเด่นของมหา’ลัยต่างๆ มาคัดเลือกหา 3 เรื่องสุดท้ายเพื่อนำมาพัฒนาต่อในรูปแบบภาพยนตร์ โดยเรามองแล้วว่าเรื่องเหล่านี้มีกลไกความน่ากลัวแตกต่างกัน แต่ครบถ้วนทุกอารมณ์ รวมถึงสามารถสอดแทรกประเด็นที่มันสะท้อนและเชื่อมโยงกับสังคมยุคปัจจุบันได้ด้วย”

อย่างที่จาตุศมบอกว่า ได้มีการคัดเลือกเรื่องเล่ามาเป็น 3 เรื่อง สำหรับถ่ายทอดเป็นหนัง หนังเรื่องนี้จึงมีลักษณะเป็นหนังที่รวมหนังสั้นสยองขวัญไว้ 3 เรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย “เชียร์ปีสุดท้าย” เล่าเรื่องราวของเมษา (แพรวา สุธรรมพงษ์ หรือ มิวสิค BNK48 จาก “Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า”) กับ ต่าย (แคร์-ปาณิสรา ริกุลสุรกาน จาก “เพื่อน..ที่ระลึก”) เด็กปีหนึ่งที่เป็นเพื่อนกันสองคน ที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเชียร์เหมือนทุกปี แต่แล้วหนึ่งในนั้นก็เห็นบางอย่างในห้องเชียร์โดยไม่คาดฝัน บางอย่างที่จะพลิกผันความสัมพันธ์ของสองเพื่อนสาว และทำให้ห้องเชียร์รุ่นนี้กลายเป็นรุ่นสุดท้ายของมหา’ลัย

เรื่องที่สองคือ “เดอะซี” จากเรื่องเล่าในหอพักนักศึกษาแพทย์ ที่เชื่อกันว่าในวันสถาปนามหาวิทยาลัยจะเป็นวันที่เงียบเหงาที่สุด ไม่มีใครกล้าอยู่หอ เพราะจะมีผีนักศึกษาแพทย์กลับมานอนที่เตียงซีของเขาในวันนั้นของทุกปี แต่ปีนี้ แทน (เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) หนุ่มนักศึกษาแพทย์ปีหนึ่งจำเป็นต้องอยู่หอเพียงคนเดียวในคืนนั้น และเรื่องที่สามคือ “ตึกวิทย์เก่า” เรื่องราวของตึกคณะวิทยาศาสตร์หลังเก่าที่ไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้าไปในตอนกลางคืน แต่โลกนี้ดันมีคนอย่างกอล์ฟ (กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ จาก “Deep โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย”) น้องชายสุดบื้อที่จำเป็นต้องเอาของมาส่งให้ มีน (เบลล์ เขมิศรา พลเดช) พี่สาวที่เรียนอยู่ตึกวิทย์ใหม่ เพียงแค่กอล์ฟเลี้ยวเข้าผิดตึก ชีวิตของเขาและพี่สาวก็อาจสู่ขิตไปตลอดกาล

ในการคัดเลือกเรื่องเล่าสยองขวัญมาสร้างเป็นหนังนั้น ธนบูรณ์ นันทดุสิต หนึ่งในทีมเขียนบทเล่าว่า “จุดเด่นของเรื่องนี้นอกจากจะให้อารมณ์สยองของหนังผีแล้ว มันก็ยังมีประเด็นที่อาจจะไม่ได้เล่าตรงไปตรงมาเสมอไป มันมีความพยายามมองผ่านแว่นของวัยรุ่นยุคนี้ที่พวกเค้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกกดทับ อาจจะด้วยความไม่เท่าเทียมกัน ความรู้สึกด้อยค่า ความรู้สึกถูกผลักไส ความพยายามหล่อหลอมให้คนไปในทางเดียวกันของระบบบางอย่าง หรือค่านิยมทางสังคมที่ฝังอยู่มานานว่าควรเรียนคณะอะไร การพยายามเอาตัวรอดของวัยรุ่นไทย การเริ่มตั้งคำถาม การไม่แน่ใจบางอย่างกับสิ่งที่สังคมไทยก่อนหน้านี้กำลังพาไป และต้องต่อสู้เอาตัวรอดจากมัน ด้วยความตั้งใจให้หนังเป็นตัวแทนของวัยรุ่นยุคนี้ที่เอนจอยได้ทั้งความเป็นหนังผี ความสัมพันธ์ของตัวละคร และแง่มุมของสังคมในยุคนี้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ให้ผีเป็นตัวแทนของสิ่งเลวร้ายเสมอไป”

และเพื่อให้ความสดใหม่ในการเล่าเรื่อง ทางผู้สร้างจึงได้เลือก 3 ผู้กำกับดาวรุ่งมาทำหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องครับ ซึ่งทั้ง 3 ประกอบไปด้วย พลอย-ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์ (ผู้กำกับจากบริษัท Hello Filmmaker), ก๋วยเตี๋ยว-จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ (ผู้กำกับจากบริษัท มิตรกับภาพ) และ ต้น-เอกภณ เศรษฐสุข (ผู้กำกับจากบริษัท กระต่ายตื่นตัว)

“ด้วยความที่โปรเจกต์มันเป็นการเอาตำนานความสยองของมหาวิทยาลัยมาทำ เราเลยต้องหาส่วนผสมของผู้กำกับว่าจะเล่ายังไงให้มันไม่ซ้ำเดิม ให้มันทันยุคทันคนดู​ จึงเป็นเรื่องของการตามหาผู้กำกับรุ่นใหม่ที่เราคิดว่าเหมาะสมและเข้ากับแต่ละเรื่องของหนังที่จะเล่า ซึ่งเราอยากได้ทั้งมุมมองของพวกเค้าต่อเรื่องที่ทีมบทเขียนมา กับมุมมองของการเล่าผ่านภาพในสไตล์ของแต่ละคนซึ่งมีประสบการณ์และผ่านงานกำกับอื่นๆ มาแล้วค่อนข้างหลากหลาย โดยโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่องนี้ทางผู้กำกับและทีมเขียนบทจะเริ่มพัฒนาบทไปด้วยกันหลังจากที่โครงเรื่องทั้งหมดผ่านบอร์ดฯ แล้ว” จาตุศม ผู้ควบคุมงานสร้างของหนังบอก

พลอย-ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์ เป็นผู้กำกับที่จบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีผลงานมาก่อนหน้านี้เช่น ซีรีส์มิวสิกวิดีโอของ Room 39 เพลง “ความจริง” (2558), “อย่าให้ฉันคิด” (2559), “เป็นทุกอย่าง” (2560) พูดถึงประเด็นที่เธออยากเล่าผ่าน “เชียร์ปีที่สุดท้าย” ว่า “ประเด็นของเรื่องที่พลอยอยากเล่าคือการยอมรับตัวตนของเพื่อนและตัวเราเอง มันมีส่วนหนึ่งของเรื่องที่เราชอบเลยคือหนังผีทั่วไปก็จะเล่าแบบตัวละครเห็นผีแล้วก็กลัว แล้วก็หนี หรืออะไรสักอย่างที่มันเป็นแอ็กชัน แต่ว่าเรื่องนี้เราอยากเล่าตรงที่ตัวละครเห็นผีแล้วกลัว แล้วจะยังไงต่ออีก เค้าจะอยู่กับการเห็นผีของเค้ายังไง รวมถึงอีกฝ่ายจะอยู่ยังไงกับการที่เพื่อนของเค้าเห็นผีแล้วเกิดอาการหลอนอะไรอย่างงี้ เค้าจะเทกแอ็กชันจะจัดการกับเหตุการณ์ตรงนี้ยังไง อันนี้ก็เป็นธีมหลักของเรื่องเหมือนกันค่ะ”

ก๋วยเตี๋ยว-จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ เป็นผู้กำกับที่เคยผ่านงานในลักษณะหนังสั้นมาก่อน เป็นต้นว่า หนังสั้น “กักตัว Stories ตอนที่ 9 The Coach จูนความคิด..ปิดความทุกข์” (2563) และยังร่วมกำกับบางตอนของซีรี่ส์ “เด็กใหม่ The Series ซีซัน 1 และ 2” ด้วย “ความเป็นหนังสยองแอ็กชันของ ‘เดอะซี’ คือเรื่องนี้ฟอร์มแรกมันคือ Suspense มันเกิดความตึงเครียด ตัวละครมันถูกจำกัดความสามารถ มันควบคุมตัวเองไม่ได้ ทีนี้ในหอพักมันก็ดันมีผีโผล่มาด้วย ซึ่งมันจะเกิดเหตุการณ์ที่ผีมันโกรธตัวละครหลักแล้วก็ไล่ล่ากัน ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดแอ็กชันการเอาตัวรอด ตัวผีเองนอกจากจะน่ากลัวแล้ว ระหว่างทางมันจะมีการอัปเลเวลทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้อิสระมากขึ้น มันก็เลยเกิดเป็นซีนแอ็กชันขึ้นมาจากการต้องเอาตัวรอดให้ได้ในพื้นที่จำกัดอะไรแบบนี้ครับ” ก๋วยเตี๋ยวเล่าถึงลักษณะความสยองในหนังตอนที่เขารับผิดชอบ

“ผมคิดว่ามันใกล้ตัว ทุกคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์เรื่องผีในมหา’ลัยหรือว่าในสถานศึกษา มันเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อได้ง่าย มันเป็นหนังผีเสพง่าย และเราก็พยายามให้มันเอนเตอร์เทนคนดู คนที่คาดหวังความน่ากลัวก็คาดหวังว่าจะได้รับ คนคาดหวังความผีสางมันก็จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งสำหรับเรื่องนี้มันก็มีความเป็นมนุษย์แทรกเข้าไปอยู่ดีในท้ายที่สุด แม้มันเป็นผีปีศาจอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายมันยังคอนเนกต์กับมนุษย์คนหนึ่งอยู่ ความกลัวในการที่เราจะเป็นในสิ่งที่เราฝันไว้ไม่ได้ การต้องยอมรับว่าเราไม่เหมาะกับสิ่งที่เราทำอยู่ มันก็เจ็บปวดมากพออยู่แล้ว ผีอาจจะเป็นแค่ตัว Trigger ความรู้สึกนั้นขึ้นมา การเอาตัวรอดจากผีอาจจะทำให้เราได้คำตอบ มันเหมือนกับการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ร้ายๆ บางอย่างในชีวิตเรา แล้วเราพบว่ามันให้คำตอบกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตของเราได้ มันคอนเนกต์กับมนุษย์ได้ มันเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้นี่แหละครับ”

สำหรับ ต้น-เอกภณ เศรษฐสุข เป็นผู้กำกับหนังสั้นเจ้าของรางวัลช้างเผือก เรื่อง “กลียุค” เล่าถึงผีใน “ตึกวิทย์เก่า” ว่า “ผีแต่ละตัวในเรื่องนี้ที่เราดีไซน์ไว้ก็จะให้มันเป็นตามขนบหนังไทยคือพอเห็นผีตัวนี้ปุ๊บก็จะรู้เลยว่ามันหลุดมาจากไหน ฟังก์ชันผีของเรื่องนี้มันก็จะดูหลอนและน่ากลัวเป็นปกติอยู่แล้ว รวมทั้งเราก็ต้องการให้พวกเค้าเป็นตัวแทนของอะไรบางอย่าง และผีแต่ละตัวมันก็จะมีความขัดแย้งที่เหมือนมันยึดติดกับสถานที่หรืออะไรตรงนั้นอยู่ทำให้มันยังไม่ไปไหน ยังคงออกมาหลอกหลอนเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง”

ต้นเล่าเสริมอีกว่า “ผู้กำกับแต่ละคนก็จะมองในมุมมองของตัวเองว่ามันเป็นยังไงกันแน่ มันไม่ใช่แค่ตำนานเรื่องเล่าเฉยๆ แต่มันเป็นเรื่องเล่าในมุมมองของเราว่ามันจะปรับแปลงให้มันเหมาะกับหนังผีในปัจจุบัน ให้มันดูโมเดิร์นหน่อยได้ยังไง เพราะว่าเราไม่ได้เล่าแบบหนังวินเทจที่ไปเล่าออริจินัลของเรื่องเลย แต่เราเล่าเรื่องของเรื่องเล่าเหล่านี้ให้มันเป็นปัจจุบันว่าคนสมัยนี้ยังมองเรื่องเล่าพวกนี้เป็นยังไงบ้าง ซึ่งทั้งสามเรื่องเนี่ยรสชาติก็จะแตกต่างกันไป มันมีเรื่องที่น่ากลัวมากๆ เรื่องที่เป็นความสัมพันธ์ดราม่า แล้วก็มาเรื่องของผมที่มันก็จะทั้งน่ากลัวผสมความฮากวนๆ มันจะมีความสนุกและได้ลุ้นไปกับมิชชันในหนังว่ามันเกิดอะไรขึ้นและมันจะไปจบลงที่ตรงไหน ในภาพรวมของหนังทั้งเรื่องผมเชื่อว่ามันน่าดูครับ มันเป็นเรื่องที่คนมาดูเรื่องเดียวก็จะได้หลากหลายรสชาติ ทั้งทีมงาน ผู้กำกับ และนักแสดงก็เต็มที่กันทุกคน มีอะไรก็ใส่กับมันไปหมด ผมคิดว่าผู้ชมน่าจะคุ้มและสนุกกับหนังเรื่องนี้กันครับ”

ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างและภาพบางส่วนจากหนังครับ

ที่มา: สหมงคลฟิล์มฯ

Exit mobile version