ดิสนีย์ยุบ “บลูสกาย สตูดิโอ” ผู้สร้างหนังอนิเมชั่นของฟ็อกซ์ เช่น “Ice Age”

ดิสนีย์ได้ยุบบริษัท Blue Sky Studios บริษัทสร้างหนังอนิเมชั่นซึ่งเดิมทีเป็นบริษัทลูกของทเวนตี้ เซ็นทูรี ฟ็อกซ์ และมีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างหนังชุด “Ice Age” ครับ ตามรายงานจากเดดไลน์
อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะดิสนีย์ก็มีบริษัทสร้างหนังอนิเมชั่นของตัวเองอยู่แล้วถึง 2 บริษัท อย่างดิสนีย์ อนิเมชั่น และ พิกซาร์ อนิเมชั่น แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกกระทบดิสนีย์หนักพอสมควร สวนสนุกต้องปิดทำการ เรือสำราญต้องจอดเทียบท่า การที่ต้องรักษาบริษัทอนิเมชั่นที่สามเอาไว้จึงเป็นความลำบากของดิสนีย์ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
บลูสกายจะเปิดทำงานอยู่ต่อไปจนถึงเมษายน หลังจากนั้น ดิสนีย์จะพูดคุยกับลูกจ้างของบลูสกายที่มีราว 450 คน เพื่อหาตำแหน่งที่เปิดรับในบริษัทลูกอื่นๆ ให้ “จากสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจปัจจุบัน หลังจากที่พิจารณาและประเมินอย่างหนักแล้ว เราจำเป็นจำใจต้องปิดตัวส่วนผลิตภาพยนตร์ของบลูสกาย สตูดิโอ” โฆษกของค่ายบอกเดดไลน์
ผลงานต่างๆ ของบลูสกายจะยังคงเป็นของดิสนีย์ ส่วนผลงานหนังที่กำลังทำอยู่เรื่อง “Nimona” ของแพทริค ออสบอร์น ที่ถูกวางกำหนดฉายไว้มกราคม 2022 ต้องหยุดทำงาน และถูกยกเลิกฉาย ขณะที่การ์ตูนชุด “Ice Age” ที่จะออกฉายทางดิสนีย์พลัส ยังไม่มีในรายงานถึงสถานนะครับ
บลูสกาย สตูดิโอ ก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 1987 โดยคริส เวดจ์, ไมเคิล เฟอร์ราโร, คาร์ล ลัดวิก, แอลิสัน บราวน์, เดวิด บราวน์ และ ยูจีน โทรเบตซกอย หลังจากที่ MAGI บริษัทสร้างเทคนิคพิเศษของพวกเขาได้ปิดตัวลง (ซึ่งบังเอิญว่าเป็นบริษัทที่ทำเทคนิคพิเศษให้ “Tron” ปี 1982 ของดิสนีย์ด้วย)
เดิมที บลูสกายทำงานเป็นมือปืนรับจ้างในการทำเทคนิคพิเศษให้ค่ายอื่น เป็นต้นว่า “Joe’s Apartment” ของเอ็มทีวีที่ออกฉายในปี 1996 ต่อมาถูก VIFX บริษัทเทคนิคพิเศษของฟ็อกซ์เข้ามาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ไป บลูสกายจึงเริ่มทำตัวละครอนิเมชั่นให้ฟ็อกซ์นับแต่นั้น เป็นต้นว่าในหนัง Alien Resurrection, A Simple Wish, Mouse Hunt, Fight Club และ Star Trek: Insurrection จนกระทั่งปี 1998 การ์ตูนสั้นเรื่อง “Bunny” ที่เวดจ์กำกับได้รางวัลออสการ์ ทำให้มีโอกาสสร้างหนังยาวออกมาในที่สุดที่ทำเงินทั่วโลกรวมกันกว่า 5.9 พันล้านเหรียญ เริ่มต้นที่ “Ice Age” ในปี 2002 ที่กลายเป็นหนังทำเงินมากที่สุดของค่าย และถูกสร้างตามมาอีก 4 ภาค ผลงานชุดอื่นๆ ก็เช่น “Robots”, “Epic”, “Rio”, “Dr. Seuss’ Horton Hears a Who!”, “The Peanuts Movie”, “Ferdinand” และเรื่องสุดท้าย “Spies in Disguise” ที่จัดจำหน่ายภายใต้ดิสนีย์ ทำเงินทั่วโลกไปเพียง 171 ล้านเหรียญ
ในบรรดา 13 ผลงานหนังยาวของบลูสกาย หนังที่ทำเงินมากที่สุดของค่ายคือ “Ice Age: Dawn of the Dinosaurs” ออกฉายในปี 2009 ทำเงินทั่วโลกไปกว่า 886 ล้านเหรียญ
ที่มา: Deadline