มาร์ติน สกอร์เซซี เขียนบทความอธิบาย ทำไมหนังมาร์เวลไม่ใช่ภาพยนตร์

หลังจากที่มาร์ติน สกอร์เซซี ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารเอ็มไพร์ไปเรื่องความเห็นของเขาที่มีต่อหนังมาร์เวล จนนำไปสู่การถกเถียงมากมายในวงการภาพยนตร์ มีผู้กำกับชั้นครูออกมาแสดงความเห็นในแบบที่คล้ายกับสกอร์เซซี และก็มีนักทำหนังรุ่นใหม่หลายคนไม่เห็นด้วย ล่าสุด ผู้กำกับและนักสร้างหนังวัย 76 ปีผู้นี้ ได้เขียนอธิบายความเห็นของเขาออกมาบนหน้าของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ครับ ขึ้นหัวข้อง่ายๆ ว่า “มาร์ติน สกอร์เซซี: ผมบอกว่าหนังมาร์เวลไม่ใช่ภาพยนตร์ ขอผมอธิบาย” เพื่อให้เข้าใจประเด็นที่เขากล่าวก่อนหน้านี้มากขึ้น ผมได้แปลและเรียบเรียงมาที่ด้านล่างนี้ เชิญอ่านและออกความเห็นกันครับ

………………………………………………………………….

“ตอนที่ผมไปอังกฤษเมื่อต้นตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารเอ็มไพร์ ผมถูกถามเรื่องหนังมาร์เวล ผมได้ตอบออกไป ผมบอกว่าผมได้พยายามดูหนังของพวกเขา 2-3 เรื่อง และมันไม่ใช่หนังสำหรับผม มันมีความใกล้เคียงกับการเป็นสวนสนุกมากกว่าเป็นหนังที่ผมรักและผมรู้จักมาตลอดชีวิต และท้ายที่สุด ผมไม่คิดว่ามันเป็นภาพยนตร์

ดูเหมือนว่าบางคนจะจับประเด็นว่าท่อนสุดท้ายของคำตอบของผมเป็นการดูหมิ่น หรือเป็นข้อยืนยันว่าผมเกลียดหนังมาร์เวล ถ้ามีใครสักคนจะตีความคำพูดของผมไปในลักษณะนั้น ผมคงไปขัดอะไรไม่ได้

หนังแฟรนไชส์หลายเรื่องถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้คนที่มีความสามารถและมีฝีมือทางศิลปะที่น่านับถือ คุณเห็นมันได้จากบนจอหนัง แต่การที่ตัวหนังไม่ได้ทำให้ผมเกิดความสนใจเป็นเรื่องของรสนิยมและนิสัยใจคอส่วนตัว ผมรู้ว่าถ้าผมอายุน้อยกว่านี้ ถ้าผมยังไม่เป็นผู้ใหญ่ในตอนนี้ ผมคงตื่นเต้นไปกับหนังพวกนี้และอาจอยากสร้างเองสักเรื่องด้วย แต่ผมเติบโตมาตอนที่ผมได้สร้างและพัฒนาความรู้สึกที่ว่าภาพยนตร์คืออะไรและเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งมันห่างไกลจากจักรวาลมาร์เวลเฉกเช่นที่เราบนโลกห่างไกลจากอัลฟ่าเซ็นทอรี

สำหรับผม สำหรับนักทำหนังที่ผมรักและนับถือ สำหรับเพื่อนของผมที่เริ่มทำหนังในช่วงเวลาเดียวกับที่ผมทำแล้ว ภาพยนตร์คือการตีแผ่  ตีแผ่ในแง่ความงามทางศิลปะ ในแง่อารมณ์ และในแง่จิตวิญญาณ มันเกี่ยวกับตัวละครที่เป็นผู้คนซึ่งมีความซับซ้อน กับปมความขัดแย้งของพวกเขา และบางครั้งก็มีความย้อนแย้งในแง่ที่พวกเขาทำร้ายคนอื่น และรักคนอื่น และทันใดนั้นก็ได้เผชิญหน้ากับตัวเอง มันเป็นเรื่องของการเผชิญสิ่งที่ไม่คาดฝันบนจอภาพยนตร์ และมันเป็นการทำชีวิตให้มีความเป็นละคร และตีความ และทำให้เกินจริงให้ออกมาเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งเท่าที่จะเป็นไปได้

และนั่นคือกุญแจสำคัญสำหรับเรา มันคือศิลปะรูปแบบหนึ่ง มันเคยมีการโต้แย้งเรื่องนี้กันในช่วงหนึ่ง เราจึงยืนหยัดว่าภาพยนตร์มีความทัดเทียมกับวรรณคดี หรือดนตรี หรือการเต้นรำ และเราก็ได้เข้าใจว่าศิลปะอาจพบได้ในหลากหลายสถานที่และหลากหลายรูปแบบ เช่นใน “The Steel Helmet” ของแซม ฟูลเลอร์, “Persona” ของอิงมาร์ เบิร์กแมน, ใน “It’s Always Fair Weather” ของสแตนลีย์ โดเนน กับ จีน เคลลี, ใน “Scorpio Rising” ของเคนเนธ แอนเกอร์, ใน “Vivre Sa Vie” ของฌอง-ลุค กอดาร์ และ ใน  “The Killers” ของดอน ซีเกล

หรือในภาพยนตร์ของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ผมคิดว่าเราอาจพอบอกได้ว่าฮิตช์ค็อกก็เป็นแฟรนไชส์ด้วยตัวของเขาเอง หรือเขาอาจเป็นแฟรนไชส์ของเรา หนังใหม่ทุกเรื่องของฮิตช์ค็อกก็เป็นมหกรรม การได้นั่งอยู่ในโรงหนังเก่าที่ผู้ชมแน่นโรงดู “Rear Window” เป็นประสบการณ์ที่สุดพิเศษ เพราะมันเป็นมหกรรมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเคมีที่เข้ากันระหว่างผู้ชมและตัวของภาพยนตร์เอง และมันก็น่าตื่นเต้นมากๆ

และในอีกแง่หนึ่ง หนังของฮิตช์ค็อกในบางเรื่องก็เป็นเหมือนสวนสนุก ผมกำลังคิดถึง “Strangers on a Train” ที่ซึ่งฉากไคลแม็กซ์เกิดขึ้นบนเครื่องเล่นม้าหมุนในสวนสนุกจริงๆ และ “Psycho” ซึ่งผมไปดูรอบมิดไนท์ในคืนแรกที่หนังเปิดฉาย เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม ผู้ชมอยากรู้สึกเซอร์ไพรส์และตื่นเต้น ซึ่งพวกเขาก็ไม่ผิดหวัง

60 หรือ 70 ปี ต่อมา เรายังดูหนังพวกนี้อยู่ และรู้สึกพิศวง (marvel) ไปกับพวกมัน แต่เพราะความตื่นเต้นและความช็อคหรือที่ทำให้เรายังกลับไปดูมัน ผมไม่คิดว่าใช่ งานสร้างฉากใน “North by Northwest” นั้น น่าตื่นตะลึงมาก แต่ก็คงเป็นแค่การจัดวางองค์ประกอบและการตัดต่อที่มีพลังและสง่างามหากปราศจากอารมณ์อันเจ็บปวดที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว หรือการสูญเสียอย่างที่สุดของตัวละครของแครี่ แกรนท์

ฉากไคลแม็กซ์ของ “Strangers on a Train” สนุกอย่างมาก แต่การแสดงรับส่งกันไปมาของสองตัวละครหลัก และการแสดงที่บ้าคลั่งของโรเบิร์ต วอล์คเกอร์ ต่างหากที่ก้องกังวาลมาจนถึงยุคนี้

บางคนอาจบอกว่าหนังของฮิตช์ค็อกก็มีความเดิมๆ และบางทีก็อาจจริงก็ได้ ตัวของฮิตช์ค็อกเองก็สงสัยเรื่องนี้ แต่ความเดิมๆ ในหนังแฟรนไชส์ยุคปัจจุบันนั้นก็เป็นอีกอย่างอีกเหมือนกัน หลายองค์ประกอบที่นิยามคำว่าภาพยนตร์ตามที่ผมรู้จักมีอยู่ในหนังของมาร์เวล แต่สิ่งที่ไม่มีก็คือ การตีแผ่ ความลึกลับ หรืออารมณ์ความรู้สึกอย่างจริงๆ ของภาวะอันตราย ไม่มีอะไรให้ความรู้สึกเสี่ยงเลย หนังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความพึงพอใจต่อความต้องการเฉพาะบางอย่าง และถูกออกแบบมาเป็นธีมที่มีความหลากหลายอย่างไม่จำกัด

หนังมาร์เวลเป็นหนังภาคต่อในแง่ของชื่อ แต่เป็นหนังรีเมกในแง่จิตวิญญาณของมัน (sequels in name but they are remakes in spirit) และทุกอย่างในหนังต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ เพราะมันไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้ นั่นคือธรรมชาติของหนังแฟรนไชส์ยุคใหม่ ผ่านการวิจัยด้านการตลาด ผ่านการทดสอบโดยผู้ชมแล้ว ถูกตรวจสอบและปรับแต่งแก้ไข้ ถูกตรวจสอบใหม่และปรับแต่งแก้ไขใหม่จนกว่าจะพร้อมให้บริโภค

หรือพูดอีกอย่างก็คือพวกมันเป็นทุกอย่างที่ไม่ใช่หนังของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน หรือแคลร์ เดนีส หรือสไปค์ ลี หรือแอริ แอสเตอร์ หรือแคธริน บิเกโลว์ หรือเวส แอนเดอร์สัน เป็น เมื่อผมดูหนังโดยผู้สร้างเหล่านี้ ผมรู้ว่าผมจะได้ดูอะไรที่ใหม่ และไม่คาดฝัน หรือบางทีได้พบประสบการณ์ที่ไม่อาจตั้งชื่อให้ได้ ความรู้สึกของผมที่มีต่อวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียงจะขยายออกไปอีก

เมื่อถึงตรงนี้แล้ว คุณอาจถามว่า แล้วผมมีปัญหาอะไร ทำไมไม่ให้หนังซูเปอร์ฮีโร่หรือหนังแฟรนไชส์อื่นๆ เป็นอย่างที่มันเป็นล่ะ เหตุผลนั้นง่ายมาก ในหลายที่ของประเทศนี้และทั่วโลก หนังแฟรนไชส์กลายเป็นตัวเลือกหลักของคุณถ้าคุณอยากไปดูอะไรบนจอใหญ่ มันเป็นยุคที่อันตรายของการจัดแสดงภาพยนตร์ และก็มีโรงหนังอิสระน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก สมการได้กลับตาลปัตรและสตรีมมิ่งกลายเป็นระบบหลักของการฉายให้ผู้มได้ชม กระนั้น ผมก็ไม่เห็นมีนักทำหนังสักคนที่ไม่อยากสร้างหนังขึ้นมาเพื่อจอใหญ่ หรือฉายให้ผู้ชมได้ชมกันในโรงภาพยนตร์

นั่นรวมถึงตัวของผมเองด้วย และผมก็พูดในฐานะคนที่เพิ่งทำหนังให้เน็ตฟลิกซ์เสร็จ เน็ตฟลิกซ์เพียงผู้เดียวที่ให้เราได้ทำหนัง “The Irishman” ในแบบที่เราต้องการจะทำ และด้วยเหตุนี้ ผมคงรู้สึกขอบคุณไปตลอดกาล เราได้เอาหนังฉายโรงบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องดีมาก ผมอยากให้หนังได้ฉายจำนวนจอมากกว่านี้และยาวนานกว่านี้ไหม แน่นอนอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าคุณสร้างหนังกับใคร จอเกือบทั้งหมดของมัลติเพล็กซ์ก็มีแต่หนังแฟรนไชส์อยู่ดี

และถ้าคุณจะบอกผมว่ามันเป็นเรื่องของอุปสงค์กับอุปทาน และการให้สิ่งที่ผู้ชมต้องการ ผมก็คงไม่เห็นด้วย มันไม่ต่างจากปัญหาว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ถ้ามีการยื่นของเพียงชนิดเดียวและมีการขายของเพียงชนิดเดียวให้ผู้คนอย่างไม่สิ้นสุด แน่นอนว่าผู้คนก็จะต้องการแค่ของเพียงชนิดเดียวมากขึ้นอีก

แต่คุณอาจเถียงว่า ก็กลับบ้านไปดูหนังอย่างอื่นบนจอเน็ตฟลิกซ์ หรือไอทูนส์ หรือฮูลู เอาไม่ได้หรือไง ได้อยู่แล้ว ทุกที่เลย แต่ก็ไม่ใช่บนจอใหญ่ที่นักสร้างหนังตั้งใจให้ผู้ชมได้ชมหนังของเธอหรือของเขา

ใน 20 ปี มานี้ เราทุกคนต่างรู้กันดีว่าธุรกิจภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกด้าน แต่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นมงคลที่สุดก็ได้เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบและไม่เป็นที่สังเกต นั่นก็คือการกำจัดความเสี่ยงอย่างค่อยๆ ทำ แต่สม่ำเสมอ หนังหลายเรื่องของยุคนี้เป็นสินค้าที่ถูกผลิตมาอย่างเหมาะเจาะเพื่อการบริโภคแบบทันทีทันใด หลายเรื่องถูกสร้างขึ้นมาอย่างดีด้วยทีมงานผู้มีความสามารถ แต่ทั้งหมดขาดบางสิ่งบางอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาพยนตร์ นั่นก็คือวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปเป็นร่างของศิลปิน เพราะแน่นอนว่าบุคคลที่เป็นศิลปินคือปัจจัยที่เสี่ยงที่สุดกว่าทั้งมวล

ผมไม่ได้จะบอกเป็นนัยว่าภาพยนตร์เป็นรูปแบบศิลปะที่ควรได้รับเงินสนับสนุน หรือว่าเคยได้ สมัยที่ระบบสตูดิโอของฮอลลีวู้ดยังอยู่ดี ความตึงเครียดระหว่างศิลปินกับคนที่บริหารธุรกิจนั้นมีอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น แต่มันเป็นความตึงเครียดในแง่ดีที่สร้างหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดจำนวนหนึ่งออกมาให้เรา หรือพูดโดยอ้างคำของบ็อบ ดิแลน ก็คือ ผลงานสุดยอดเล่านั้น “กล้าหาญและมีวิสัยทัศน์”

วันนี้ ความตึงเครียดนั้นได้หายไป และมีบางคนในวงการไม่แยแสต่อประเด็นเรื่องศิลปะเลย และมีทัศนคติต่อประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ว่าเป็นทั้งของที่ควรทิ้งและน่าหวงแหน เป็นคู่ผสมที่อันตราย น่าเศร้าที่สถานการณ์ขณะนี้มีให้เราสองตัวเลือกที่แยกจากกัน นั่นก็คือสื่อโสตทัศน์ที่ให้ความบันเทิงทั่วโลกกับภาพยนตร์ (There’s worldwide audiovisual entertainment, and there’s cinema.)ทั้งสองยังคงเหลื่อมเข้าหากันเป็นบางครั้ง แต่เริ่มกลายเป็นของหายากมากขึ้น และผมกลัวว่าความเหนือกว่าด้านการเงินของอีกฝ่ายหนึ่งจะถูกใช้ในการลดความสำคัญของการมีอยู่ หรือแม้แต่บีบขนาดของอีกฝ่ายให้หกเล็กลง

สำหรับใครก็ตามที่ฝันอยากทำหนัง หรือคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำหนัง สถานการณ์ในยามนี้นั้นโหดร้ายและไม่เป็นมิตรต่อศิลปะ และการแค่เขียนคำเหล่านี้ออกมาเฉยๆ ก็สร้างความเศร้าให้ผมอย่างมาก”

………………………………………………………

บทความนี้ของสกอร์เซซีทำให้ชื่อของเขาติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในสหรัฐเกือบตลอดทั้งวันเลยครับ

 

ที่มา: NY Times

11 comments

  1. มีเหตุผล ในฐานะคนทำหนังระดับชั้นครูเขาคงเห็นถึงความแตกต่างของศิลปะภาพยนตร์ในสมัยก่อนกับยุคปัจจุบัน สิ่งที่ Martin Scorsese จะสื่อ คือเขาอยากให้ศิลปะแบบภาพยนตร์ยุคเก่าที่พาคนดูเข้าถึงจิตวิญญาณ ความพิถีพิถันอันละเอียดอ่อนของหนัง ยังคงอยู่ ไม่ถูกลดทอนให้หายไปจากพวกหนังแฟรนไชส์ เมื่อผู้ประกอบการโรงหนังคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ในทางธุรกิจที่จะฉายแต่หนังแนวเดียว หรือหนังเรื่องอื่นๆ ที่มีทิศทางในแบบเดียวกัน เพื่อหวังทำเงินเป็นกอบเป็นกำเพียงอย่างเดียว มันทำให้หนังดีๆแนวอื่น ไม่มีโอกาส และ พื้นที่ ที่จะได้ฉายในโรงภาพยนตร์ หรือถ้ามีก็ได้ฉายน้อยมาก คนทำหนังทุกคนต่างก็อยากให้หนังของตัวเองได้ฉายบนจอใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ปัจจุบันทุกอย่างมันได้เปลี่ยนไป ที่ Matin เลือกทำหนังกับ Netflix (แม้จะได้รอบฉาย และ จำนวนโรงที่ฉายน้อยลง แต่ถึงไม่ทำกับ Netflix ก็ยังได้รอบและจำนวนที่น้อยกว่าอยู่ดี เพราะโรงหนังส่วนใหญ่จะฉายแต่หนังที่คิดว่าน่าจะทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัท) เพราะเขาให้อิสระในการทำหนังให้กับคนทำหนัง มันเป็นสิ่งที่คนทำหนังทุกคนต้องการ การได้ใช้วิสัยทัศน์ของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยมมันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทำหนังในแง่ของการนำเสนอผลงานศิลปะในมุมที่เป็นตัวเองและแตกต่างออกไป และนี่ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของโรงภาพยนตร์ และ ระบบสตรีมมิ่งในยุคปัจจุบัน

    • เพิ่มเติมอีกนิด และยังเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการทำหนังแบบยุคเก่าที่สร้างหนัง Classic ขึ้นหิ้งที่มีความแตกต่างไว้หลายต่อหลายเรื่อง กับหนัง แฟรนไชส์สูตรสำเร็จในยุคปัจจุบัน

  2. สำหรับผมหนัง marvel คือการเสพความบันเทิงโดยไม่สนเรื่องของเหตุผลอะไรเท่าไหร่ แต่หนังแบบที่ว่ามันคือการเสพงานศิลปะมากกว่า

    การเข้าไปนั่งดูหนัง marvel คือการไปแบบไม่ต้องคิดอะไร ดูฉากระเบิด ดูจากอลังการโดยไม่สนอะไร

    แต่การไปดูหนัง Classic คือการเสพภาพ เสพดนตรี เสพการแสดง เสพสิ่งที่ต้องการสื่อ ต้องการการตีความ ต้องการสมาธิในการรับชมมากกว่า

    ปล.เหตุด้วยกับสก๊อตเซซี่ประมาณ 75% นะสำหรับผม

  3. โดยส่วนตัว ก็มองว่าหนังยุคนี้ไม่ทำให้ว้าวได้อีกแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เคยทำๆ มาแล้ว เนื้อเรื่องมันซ้ำกันแค่เปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างเท่านั้น และยังเข้าใจเรื่องที่ สกอร์เซซี ต้องการจะอธิบาย แต่ก็ยังคงชอบที่จะดูหนังมาร์เวลในบางเรื่อง อย่าง Antman ภาคแรกทำออกมาดีและสนุกมาก เรื่องนี้ให้มองจริงๆ คือ สื่อตีข่าวเอง โดยสร้างความขัดแย้งผ่านการพาดหัว มันก็น่าเสียดาย ที่คนต้องมาทะเลาะกันทั้งๆ ที่กูเป็นคนที่ชอบดูหนังเหมือนกัน

  4. โดยส่วนตัว ก็มองว่าหนังยุคนี้ไม่ทำให้ว้าวได้อีกแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เคยทำๆ มาแล้ว เนื้อเรื่องมันซ้ำกันแค่เปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างเท่านั้น และยังเข้าใจเรื่องที่ สกอร์เซซี ต้องการจะอธิบาย แต่ก็ยังคงชอบที่จะดูหนังมาร์เวลในบางเรื่อง อย่าง Antman ภาคแรกทำออกมาดีและสนุกมาก เรื่องนี้ให้มองจริงๆ คือ สื่อตีข่าวเอง โดยสร้างความขัดแย้งผ่านการพาดหัว มันก็น่าเสียดาย ที่คนต้องมาทะเลาะกันทั้งๆ ที่เป็นคนที่ชอบดูหนังเหมือนกัน

  5. ทำเหมือนเกาหลีใต้เลย จำกัดการฉายหนังใหญ่ๆให้ทุกโรงภาพยนต์ทั่วประเทศ ไม่เกิน 50% เพื่อให้หนังอื่นได้มีการฉายบ้าง

  6. ขนาดตอนจบ​ endgame ยังเปลี่ยนอัจฉริยะให้โง่กว่าคนไม่ฉลาดได้เลยครับ​ เห็นอยู่ว่าไม่จำเป็นต้องดีดนิ้ว​ ยอดมนุษย์ร้อยกว่าคนก็เตรียมมุงธานอสที่ไม่มีถุงมือแล้ว​ แม่มก็ยังอุตส่าห์เขียนบทให้ดีดนิ้ว… ทุกอย่างมันขึ้นกับคนกำเงิน​แหละ

    ลุงแกต้องทำใจครับ​ เหมือนเรื่องกล้องฟิลม์กล้องดิจิตอล

  7. ดูแค่ 2-3 เรื่อง ซึ่งไม่รู้ว่าเรื่องอะไรบ้าง แต่ก็เหมารวมๆว่าไม่ใช่ภาพยนต์ในความคิดของตัวเอง
    ใจจริงอยากให้ลุงแกดูทุกเรื่องก่อนค่อยวิจารณ์นะ แล้วค่อยมาแสดงทัศนคติต่อหนัง
    ผมอยากบอกว่าใน 20 กว่าเรื่องของ marvel มีความสนุกมากน้อยแตกต่างกันไป (ปังบ้าง แป้กบ้าง)
    จะบังคับให้คนทั้งโลกชอบ marvel ก็คงจะเป็นไปไม่ได้
    ส่วนตัวผมรู้สึกโชคดีมากที่ดูหนังได้ทุกแนว
    อยากจะเรียกร้องอะไรก็เรียกร้องไป ไม่ว่าจะเรื่องประเภทของหนังที่ฉาย หรืออะไรก็ตามแต่
    แยกเป็นเรื่องๆไป
    หนังลุงเป็นหนังดีนะครับไม่แย่เลย แต่หนังของ marvel มันเข้าถึงกลุ่มคนได้มากกว่า
    อยู่ที่การปรับตัวล้วนๆครับ แค่แรงกระเพื่อมมันไม่พอ มันมีเรื่องของการตลาดด้วย โรงหนังต้องมีกำไรถึงจะอยู่ได้ครับ

  8. มันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับศิลปบันเทิงทุกประเภทในยุคนี้น่ะแหละ วงการเพลงคือตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งกว่าวงการภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ที่อาจจะจะไม่มีความ classic เกิดขึ้นอีกแล้วก็เป็นได้ งานเพลงมีการผลิตและเสพกันอย่างฉาบฉวยมากขึ้นทุกวัน แต่ก็เพราะหลายๆอย่างในสังคมเปลี่ยนไป สปีดในการใช้ชีวิตที่เร็วกว่าอดีต วิธีคิดวิธีทำงานไม่เหมือนเดิม ทำให้เพลงกลายเป็น content นึงใน entertainment ที่หลั่งไหลเข้ามาแล้วก็จากไปอย่างรวดเร็ว
    แต่อย่างไรก็ดี หนัง marvel มันก็คือภาพยนตร์น่ะแหละ มันจะไม่ใช่ได้ยังไง เพียงแต่มันไม่ใช่ภาพยนตร์ในแบบที่แกคิดว่า “ควรตะเป็น” เท่านั้นเอง

Leave a Reply