ข้ามไปยังเนื้อหา

บทวิจารณ์: Ocean’s 8

อย่ามองข้ามผู้หญิง

(เผยเนื้อเรื่องสำคัญ)

เธอไม่ได้ทำงานนี้เพื่อตัวเอง แต่เธอทำเพื่อเด็กผู้หญิงที่อยากเป็นโจร แล้วอยากมีไอดอลผู้หญิงเอาไว้เป็นแบบอย่าง” เด็บบี้ โอเชียน ตัวละครของแซนดรา บูลล็อค พูดปลุกใจอยู่หน้ากระจกขณะเตรียมตัวออกไปฉกเพชรพร้อมกับแก๊งเพื่อนสาว ผมอาจจำประโยคนี้ได้ไม่เป๊ะ แต่มันก็น่าจะถือเป็นคำพูดที่สะท้อนแนวคิดของหนังได้พอสมควร แน่นอนว่าพวกเธอคงไม่ได้จะมาเป็นแบบอย่างให้เด็กผู้หญิงอยากไปเป็นโจรจริงๆ หรอก แต่พวกเธอก็อาจเป็นแบบอย่างให้เด็กผู้หญิงที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ว่า พวกเธอเป็นสามารถทำภารกิจในงานของผู้ชายได้สำเร็จไม่แพ้ผู้ชาย ขณะเดียวกันก็อาจบอกผู้ชมด้วยว่า หนังที่เคยมีแต่ผู้ชายนำแสดง ผู้หญิงก็มานำแสดงได้เหมือนกัน

หนังโจรกรรมของฮอลลีวู้ด ผู้ชายมักเป็นตัวนำ ฉายความโดดเด่น ไม่ค่อยมีที่ให้ผู้หญิงยืนในหนังแนวนี้สักเท่าไหร่ หรือถ้ามี พวกเธอก็แค่เป็นตัวสมทบ เป็นไม้ประดับ อาจร่วมสนับสนุน แต่มักถูกมองข้ามโดยตลอด ในหนังชุด Ocean เองที่สร้างมา 3 ภาค แม้จะมีนักแสดงหญิงที่มาสมทบในบทเด่นไม่แพ้นักแสดงชายอย่างจูเลีย โรเบิร์ต และ แคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์ แต่คนแรกๆ ที่ผู้ชมอาจนึกถึงก่อนก็อาจเป็นจอร์จ คลูนีย์, แบรด พิตต์ และ แมต เดมอน แต่ใน Ocean’s 8 ทุกอย่างกลับกันบ้าง ถึงคราวที่ผู้หญิงยืนอยู่แถวหน้าและเป็นที่จดจำ และถึงคราวผู้ชายหลบไปอยู่หลังฉากหรือโผล่มาเพียงแค่ชื่อ เพราะผู้หญิงก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย

Ocean’s 8 ใช้โครงเรื่องหลักๆ ของ Ocean’s 11 ที่เป็นหนังภาคผู้ชายมาเป็นแกน เพียงแต่เปลี่ยนเหล่านักโจรกรรมมาเป็นผู้หญิง เปลี่ยนจากโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างคาสิโนมาเป็นโลกแฟชั่นที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ เปลี่ยนเป้าหมายจากเงินมูลค่ามหาศาลมาเป็นเพชรระดับร้อยล้าน ระหว่างดำเนินแผนการก็อาจเจออุปสรรคบ้าง แต่พวกเธอก็อาศัยความฉลาด ไหวพริบ และความสามารถส่วนตัวในการแก้ไขสถานการณ์ได้เนียนๆ ไม่ต่างจากภาคของผู้ชายนัก ซึ่งนี่อาจเป็นข้อด้อยสำคัญของหนังชุดนี้ทั้งหมดเลยก็เป็นได้ ตรงที่แผนการดูเหมือนลุล่วงได้ง่าย หนังจึงค่อนข้างขาดความตื่นเต้นในการดำเนินเรื่อง แถมการเล่าเรื่องของผู้กำกับแกรี่ รอส ก็ไม่ได้แปลกใหม่หรือหวือหวาเท่าแนวคิดของหนัง แต่หากจะให้เราต้องลุ้นไปกับการทำงานของ 8 ผู้หญิงในหนัง ก็เท่ากับเป็นการบอกว่าผู้ชายทำงานแบบนี้ได้ดีกว่าพวกเธอ ดังนั้น หนังจึงใช้จุดเด่นหลักเช่นเดียวกับ Ocean’s 11 นั่นก็คือเสน่ห์อันน่าจับตามองของทีมนักแสดงเวลาขึ้นจอ และการแสดงที่แพรวพราวที่ชวนให้เพลิดเพลิน ไม่ต่างจากการได้ชมโฉมพวกเธอบนพรมแดงของงานเมตกาลา ที่พวกเธอมาโพสต์ท่า กรีดกรายให้เราอู้หู แต่เราอาจไม่ต้องลุ้นว่าพวกเธอจะเดินสะดุดพรมแดงหรือไม่

หัวหน้าของทีมนักโจรกรรมหญิงที่มากเสน่ห์เหล่านี้และเป็นมันสมองสำคัญก็คือเด็บบี้ (บูลล็อค) ที่เธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอก็เก่งไม่แพ้พี่ชายในการคิดแผนการและการดำเนินการต่างๆ โดยมีลู (เคต บลังเชตต์) สาวสิงมอไซค์เป็นมือขวาสำคัญ สมทบด้วยอมิตา (มินดี้ คาลิง) สาวปากีสถานนักทำเครื่องประดับที่ถูกครอบครัวกดดันให้หาผู้ชายแต่งงานด้วยซะที แต่เธอคิดว่าเธอมีดีกว่านั้น และอยากทำงานนี้ให้สำเร็จเพื่อจะได้รวยๆ ไม่ต้องพึ่งผู้ชาย, แทมมี่ (แซร่าห์ พอลสัน) แม่บ้านที่ยังรักการผจญภัยในโลกของโจรกรรม, คอนสแตนซ์ (ออควาฟีนา) สาวเชื้อสายจีนตัวเล็ก แต่ไวจนมองแทบไม่ทัน, ไนน์บอล (รีฮันนา) สาวสุดยอดนักแฮ็คเกอร์, โรส เวล (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ดีไซเนอร์ที่กำลังตกอับ และยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองกลับไปลืมตาอ้าปาก และสุดท้ายที่อาจมาร่วมงานท้ายสุด ดาฟเน่ (แอน แฮทธาเวย์) ดาราสาวที่ “ดูเหมือน” สวยแต่ไม่ฉลาด ทั้งหมดแบ่งปันหน้าที่ทำงานตามแนวถนัดของตัวเองในแผนโจรกรรม

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ขณะที่หนังโจรกรรมทั่วไป นักแสดงหญิงมักถูกมองข้ามในการให้มารับบทนำ หรือแม้มีบทเด่นก็มักถูกผู้ชายกลบ ผู้หญิงในหนังเรื่องนี้ก็ใช้สิ่งที่นักแสดงหญิงในฮอลลีวู้ดมักถูกกระทำมาเป็นลูกไม้สำคัญ นั่นก็คือ “การถูกมองข้าม” เพราะไม่มีใครนึกเลยว่าผู้หญิงที่ดูเหมือนบอบบาง ตัวเล็ก เฉิ่มๆ กระเปิ๊บกระป๊าบ ดูท่าทางไม่ค่อยมั่นใจ ดูไม่ฉลาด เหล่านี้ จะกล้าลงมือฉกเพชร ทำให้พวกเธอรอดหูรอดตาผู้ชายอกสามศอกที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยไปได้อย่างสบายๆ หลบพ้นได้แม้กระทั่งสายตาของกล้องวงจรปิด และก็มีเพียงแต่ผู้หญิงด้วยกันเท่านั้นที่จับพิรุธได้

ตัวละครที่น่าจะสะท้อนข้อความสำคัญเรื่องการที่ผู้หญิงมักถูกมองข้าม และถูกดูถูกว่าไม่เก่งเท่าผู้ชายได้ดีที่สุดคงเป็นดาฟเน่ บทของแอน แฮทธาเวย์ ซึ่งเธอก็เล่นบทนี้ได้อยู่หมัด และกลายเป็นดาวเด่นเหนือทุกตัวละครในหนัง เธออาจถูกมองว่าเป็นผู้หญิงเจ้าอารมณ์ ขี้วีน ขี้เหวี่ยง สวย แต่ไม่ฉลาด แต่ความเป็นจริงแล้วเธอฉลาดเป็นกรดเลย เธอแค่แกล้งโง่เท่านั้น เธอดูออกว่าใครเล่นละครตบตาเพราะเธอเป็นนักแสดงที่เก่ง เธอสัมผัสได้เวลาที่มีบางสิ่งไม่ชอบมาพากล เธออาจเป็นผู้หญิงแบบที่ผู้หญิงด้วยกันยังดูถูกว่าเป็นเป้าหมายที่หลอกได้ง่าย แต่เธอได้พิสูจน์ให้เห็นในตอนหลังว่า เธอนี่แหละที่เป็นไพ่ตายสำคัญในการให้แผนการทั้งหมดบรรลุ

การที่บทให้ดาฟเน่เป็นนักแสดงในฮอลลีวู้ดก็อาจสะท้อนการเอาตัวรอดของผู้หญิงในฮอลลีวู้ดได้ด้วย ที่ไม่เพียงต้องแข่งขันกันเองทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงขี้วีน ขี้เหวี่ยง จนไม่มีเพื่อนสนิทในวงการ ผู้หญิงยังจำเป็นต้องแกล้งโง่ หรือร้ายตาใส เพื่อหลอกทุกคน เพื่อให้ตัวเองได้สิ่งที่ต้องการในวงการนี้ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ดาฟเน่ยังทำให้นึกถึงตัวละครของรีส วิทเธอร์สปูน ใน Legally Blonde หรือของโกลดี้ ฮอว์น ใน Private Benjamin ที่ความกระเปิ๊บกระป๊าบของพวกเธอทำให้ผู้ชายมองว่าจะหาประโยชน์หรือหลอกใช้พวกเธอได้ แต่พวกเธอก็แกร่งและฉลาดจนไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่าง

หนังเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับผู้ชายอย่างแกรี่ รอส ซึ่งร่วมเขียนบทด้วยกับโอลิเวีย มิลช์ การได้ผู้หญิงมาร่วมเขียนบทด้วยนี้เอง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนจากหนังที่ผู้ชายมักนำแสดงมาเป็นผู้หญิงนำแสดงออกมามีความเป็นผู้หญิงได้ลึกลงไปถึงการออกแบบตัวละคร เพราะไม่แน่ว่าหากใช้ผู้ชายเขียนบทเพียงอย่างเดียว ตัวละครผู้หญิงในเรื่องอาจกลายเป็นผู้หญิงห้าวๆ แมนๆ แบบในหนังหลายเรื่องที่ผู้หญิงต้องแสดงออกเวลามารับบทแทนผู้ชาย ทุกตัวละครมีความเป็นผู้หญิง มีจริตแบบผู้หญิง มีความสวยแบบผู้หญิง แม้แต่ตัวละครลู หรือไนน์บอล หรือคอนสแตนซ์ ที่อาจแต่งตัวเท่ๆ แบบผู้ชายในบางขณะ ก็ยังไม่ทิ้งจริตจกร้านและเสน่ห์ในแบบผู้หญิง เพียงแต่พวกเธออาจดูเหมือนเป็นผู้หญิงที่ผู้หญิงด้วยกันจะหลงรัก

สิ่งหนึ่งที่อดคิดไม่ได้หลังดูจบว่า ขณะที่หนังตีโจทย์สำเร็จในแง่แนวคิด การให้โอกาสผู้หญิงและสตรีนิยมได้อย่างยอดเยี่ยม แต่การที่ภาพของหนังดูไม่แปลกตาจากหนังโจรกรรมของฮอลลีวู้ดทั่วไปก็อาจเพราะการใช้ผู้กำกับผู้ชายก็เป็นได้ หากหนังเรื่องนี้ใช้ผู้กำกับหญิงเช่นแพ็ตตี้ เจนกินส์ มากำกับ เป็นต้น การนำเสนออาจจะแปลกตากว่าหนังที่ผู้ชายกำกับไหม และส่งเสริมแนวคิดของหนังได้ลึกไปกว่าอีกระดับหรือเปล่า หวังว่าเราจะได้มีโอกาสเห็นเช่นนั้นในภาคสองครับ

 

ข้อมูลเบื้องต้น

Ocean’s 8

ผู้กำกับ: แกรี่ รอส

ผู้เขียนบท: แกรี่ รอส และ โอลิเวีย มิลช์

นักแสดง: แซนดรา บูลล็อค, เคต บลังเชตต์, แอน แฮทธาเวย์, แซร่าห์ พอลสัน, รีฮันนา, มินดี้ คาลิง, ออควาฟีนา, เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์, ริชาร์ด อาร์มิเทจ และ เจมส์ คอร์เดน

ผู้จัดจำหน่าย: วอร์เนอร์ บราเธอร์ส

กำหนดฉายในไทย: 14 มิถุนายน 2561

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.