Site icon JEDIYUTH

บทวิจารณ์ – Avengers: Infinity War

©Marvel Studios 2018

Avengers: Infinity War ปัจฉิมบทที่ยังไม่สมบูรณ์

(เผยเนื้อเรื่องบางส่วนของหนัง)

“Thanos demands your silence.” (ธานอสขอสั่งให้คุณเงียบ) เป็นการรณรงค์ของผู้กำกับโจ และ แอนโธนี รุสโซ แห่ง Avengers: Infinity War ที่เตือนแฟนๆ ว่า อย่าสปอยล์ หรือเผยเนื้อเรื่องสำคัญของหนัง แม้แต่ก่อนหน้าหนังฉายรอบปฐมทัศน์ก็มีการเตือนอีกรอบว่า ให้เลี่ยงการเข้าโลกออนไลน์ ทั้งยังจับนักวิจารณ์และผู้ที่ชมรอบปฐมทัศน์ว่าห้ามเปิดเผยบทวิจารณ์ก่อนหนังฉายเป็นทางการ 1 วัน ราวกับเป็นความลับสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะหากผู้ชมรู้เนื้อหาสำคัญแล้วจะเสียอรรถรสอย่างใหญ่หลวง แต่หลังจากที่ชมหนังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า ความลับใหญ่หลวงนั้นอาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของหนังก็เป็นได้ แต่อาจอยู่ที่ตัวหนังเองไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์ ไม่อาจส่งพลังและความพิเศษมาได้สมความยิ่งใหญ่ของทั้งทุนสร้างของมัน สมกับการที่ระดมกองทัพนักแสดงชั้นนำ สมกับความผูกพันที่เรามีให้แต่ละตัวละครที่คุ้นเคยมายาวนาน และสมกับเป็นปัจฉิมบทของสิบปีมาร์เวล เราเข้าไปดูหนังเรื่องนี้อย่างหวังว่าจะเป็นหนังที่พูดได้ว่าโคตรพีค แต่กลายเป็นได้ไม่เท่าที่หวังไว้ มันก็สนุกดีนะ แต่น่าจะดีได้กว่านี้อีก

สิ่งที่อารัมภบทมานี้ไม่ได้จะบอกว่า Avengers: Infinity War เป็นหนังเลวร้าย หรือไม่สนุกเลย มันมีหลายช่วงที่ตื่นเต้น สะเทือนใจระดับหนึ่ง และฮา แต่ก็มีอีกหลายช่วงในปริมาณที่ใกล้เคียงกันที่เรารู้สึกว่ามีแต่ความโครมคราม แห้งแล้ง และมุกตลกไม่ได้ผล เมื่อเทียบกับหนังของมาร์เวลด้วยกันเองที่สร้างความหรรษา หรือความรู้สึกร่วมให้เราได้อย่าง Spider-Man: Homecoming, Guardians of the Galaxy ทั้งสองภาค, Black Panther หรือแม้แต่ Captain America: Civil War ที่เป็นผลงานก่อนหน้านี้ของพี่น้องผู้กำกับรุสโซ หนังสงครามชิงอัญมณีเรื่องนี้ก็ยังไม่อาจทำให้รู้สึกพอใจได้ถึงขั้นนั้น ซึ่งหลังจากพยายามหาเหตุผลว่าทำไมรู้สึกเช่นนี้ ผมพบว่าน่าจะมาจากการที่หนังได้โจทย์ที่ยากกว่า จึงจัดการให้ออกมาสมบูรณ์ได้ยากกว่า

โจทย์ใหญ่ของหนังก็คือ การที่มันจะต้องปิดฉากเรื่องราวที่สร้างมา 18 ภาค และเชื่อมโยงกันหลวมๆ โดยการจับโลกของทั้งหมดนั้นมารวมอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน พร้อมกับตัวละครเด่นๆ 70-80 ตัว แล้วยังต้องเล่าภารกิจของตัวร้ายหลักอย่างธานอสเข้าไปอีก มันมีอะไรให้เล่าเยอะ มันไม่ใช่หนังที่มีเนื้อเรื่องเดี่ยวๆ อีกต่อไป และมันก็ยากแก่การสร้างความสดใหม่อะไรได้อีก เพราะแค่ต้องกระจายบทให้ทุกตัวละครได้แสดงอะไรบ้าง แค่เอาทั้งหมดนี้มาใช้เป็นเนื้อเรื่องให้น่าสนใจและเล่าเรื่องให้น่าติดตามก็เหนื่อยแล้ว อย่าว่าแต่จะให้มันออกมาสมบูรณ์เลย มันเป็นความเสี่ยงที่เดิมพันสูงของผู้สร้างหนังไม่ต่างจากการเดิมพันของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ในหนังเรื่องนี้ที่ยับยั้งภารกิจของธานอส เราชื่นชมและให้กำลังใจในความพยายามที่ผู้สร้างต้องสู้กับโจทย์มากๆ นี้ แต่เมื่อผลลัพธ์ที่ออกมาไม่สมบูรณ์ ก็จำเป็นต้องมามองดูกันว่าอะไรที่ทำสำเร็จ และอะไรที่ทำไม่สำเร็จ

เนื้อเรื่องของหนังเล่าถึงการที่ธานอส (จอช โบรลิน) ต้องการใช้มณีอินฟินิตี้ลบผู้คนในจักรวาลให้หายไปครึ่งหนึ่ง เพราะเชื่อว่านั่นคือการรักษาสมดุลของจักรวาล เพื่อให้จักรวาลให้คงอยู่ต่อไปไม่ล่มสลายเหมือนดาวไททันของตน เป็นภารกิจที่คนอื่นมองว่าบ้าและโหดเหี้ยม แต่ธานอสเองมองว่านั่นคือความเมตตา ทำให้เหล่าอเวนเจอร์สกับการ์เดี้ยนที่กระจัดกระจายกันต้องหาทางยับยั้งแผนการนี้ โดยธอร์ (คริส เฮมส์เวิร์ธ), ร็อกเก็ต (แบรดลี คูเปอร์), และกรูท (วิน ดีเซล) เดินทางข้ามจักรวาลไปตามหาอาวุธที่ฆ่าธานอสได้ กลุ่มการ์เดี้ยนที่เหลือออกไปปกป้องมณีอินฟินิตี้ในอวกาศ ส่วนเหล่าอเวนเจอร์สก็คอยปกป้องสองมณีอินฟินิตี้ที่อยู่บนโลก แต่ทว่า ธานอสได้ชิงลงมือก่อน โดยส่งสี่ลูกสมุนแบล็คออร์เดอร์มาชิงมณีอินฟินิตี้บนโลก ทำให้เหล่าฮีโร่ต้องกระจัดกระจายกันยิ่งกว่าเดิม ก่อนที่จะมาถึงการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายทั้งบนดาวไททันและที่วาคานด้า

บทหนังของคริสโตเฟอร์ มาร์คัส กับ สตีเฟ่น แมคฟีลี เลือกให้แกนกลางของเรื่องราวอยู่ที่ธานอสแบบที่อาจเรียกได้ว่าธานอสคือตัวเอกของหนังเรื่องนี้เลย ขณะที่เหล่าฮีโร่เหมือนเป็นตัวละครแวดล้อมด้วยการพยายามทำทุกทางไม่ให้ธานอสได้มณีอินฟินิตี้ครบ ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกของทีมเขียนบท เพราะที่ผ่านมา ถ้าไม่นับการมีบทเล็กๆ ใน Guardians of the Galaxy การมีอยู่ของธานอสคือในฉากท้ายเครดิตทั้งนั้น การที่จะให้เรื่องราวนี้เข้มข้นขึ้นได้ เราต้องได้รู้จักธานอสมากขึ้น ทั้งในแง่แรงจูงใจ ความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น และความน่ากลัว แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ Thanos: Infinity War มันยังเป็น Avengers: Infinity War อยู่ แม้ต้องให้น้ำหนักทางบทแก่ธานอสมากแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องมีเรื่องราวให้เหล่าฮีโร่ทั้งไอร์ออนแมน (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์), กัปตันอเมริกา (คริส เอแวนส์), ธอร์ (คริส เฮมส์เวิร์ต) และคนอื่นๆ ได้แยกกันไปทำ มันจึงเป็นเหตุให้หนังแน่นไปด้วยเรื่องราว ที่บางเรื่องราวก็อาจไม่น่าสนใจนัก เหมือนมีเพื่อให้ฮีโร่ได้ทำรอเวลามารบในสมรภูมิสุดท้าย แล้วก็มาแย่งพื้นที่ของฉากไคลแม็กซ์ที่ได้รับการขยี้และได้รับการจัดการที่ดีกว่านี้

แต่กระนั้น ก็ต้องชมมากๆ ในเรื่องการกระจายบทให้ทุกคนได้มีฉากโชว์ โดยเฉพาะในหนังที่มีตัวละครนับสิบเช่นนี้ ไม่มีตัวละครไหนที่เรารู้สึกว่าถูกหลงลืมเลย แม้บางตัวละครอาจมีฉากไม่มากก็ตาม รวมถึงตัวละครที่ยังไม่โผล่มาก็ได้รับการถูกกล่าวถึง เสียแต่ที่บทของบางตัวละครดูเหมือนไม่อยู่กับร่องกับรอย เช่นสตาร์-ลอร์ด (คริส แพรตต์) ที่ในหนังชุด Guardians of the Galaxy นั้นดูเหมือนเป็นตัวละครที่แม้จะมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวเอง แต่ก็มีความฉลาดในทางอารมณ์ แต่พออยู่ในหนังเรื่องนี้กลับหลุดจากบุคลิกนั้น มีความหุนหันพลันแล่น ขี้อิจฉา และอีโก้จัดจนทำอะไรโง่ๆ อย่างเป็นคนละคน บางตัวละครก็ดูเหมือนว่าไม่ได้สานต่อปมที่ผูกไว้ในภาคที่แล้ว หนังแค่แตะมันนิดหน่อย ซึ่งเข้าใจได้ว่าแค่นี้หนังก็มีเนื้อเรื่องเยอะอยู่แล้ว เป็นต้นว่าความสัมพันธ์ของบรูซ แบนเนอร์ (มาร์ค รัฟฟาโล) กับ นาตาชา (สการ์เลต โจแฮนสัน) และฝันร้ายที่ทำนายอนาคตของโทนี่

มันเป็นความยากอีกอย่างของหนังที่ผู้กำกับชุดหนึ่งมากำกับทีหลังผู้กำกับอีกชุด ซึ่งในกรณีนี้คือรับช่วงจากอีก 18 เรื่องก่อนหน้า มันยากที่จะไม่ให้มีส่วนที่ขัดกัน แต่ก็มีบางความสัมพันธ์ของตัวละครที่ใช้จากการสานต่อของเรื่องอื่นได้คุ้ม เช่นความสัมพันธ์ของวิชั่น (พอล เบททานี) กับวันด้า (อลิซาเบธ โอลเซ่น) ที่มากพอจะทำให้เราสะเทือนใจ

การแยกกันไปมีภารกิจเรื่องราวของตัวเองเป็นกลุ่มๆ อดนึกถึงหนังอย่าง The Lord of the Rings: The Two Towers หรือ Ocean’s Eleven ไม่ได้ ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องคล้ายกัน แต่ทำได้สมบูรณ์กว่าในแง่การตัดสลับไปมาระหว่างแต่ละเส้นเรื่องให้กลมกลืนเป็นก้อนเดียวกันและมีการผ่อนหนักผ่อนเบาที่ดี ขณะที่ Infinity War ที่แม้การเล่าเรื่องจะค่อนข้างน่าติดตาม แต่การที่มีสูตรของแต่ละเส้นเรื่องที่คล้ายๆ กัน ก็คือเปิดด้วยการปะทะกันของตัวละครที่มีบุคลิกแตกต่างกันที่สร้างเสียงฮาให้เราได้ แบบพวก The Odd Couple แล้วตามด้วยฉากแอ็คชั่นใหญ่ๆ ฉากเจรจาหรือวางแผนที่อาจใส่มุกตลกเข้ามา แล้วตามด้วยฉากแอ็คชั่นใหญ่ๆ อีกที มันดูเป็นก้อน ก้อน ก้อน ก้อน มาต่อกัน ขาดความกลมกลืนของแต่ละเส้นเรื่องที่จะเป็นตัวเสริมให้หนังซึ่งบันเทิงได้ดีขึ้นไปอีกระดับ

มุกตลกในหนังที่น่าจะมาจากทั้งบทหนังและการด้นสุดของนักแสดง ทำให้เราฮามากๆ ในช่วงครึ่งเรื่องแรกที่สถานการณ์ยังไม่ตึงเครียดนัก แต่เมื่อโทนของหนังเคร่งเครียดและสิ้นหวังมากขึ้นในช่วงหลัง มุกตลกก็ดูค่อนข้างไม่ได้ผลเพราะถูกโทนของหนังกลบ และเหมือนเป็นมุกที่มาผิดสถานการณ์

ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับธานอสนั้น ก็มีทั้งส่วนที่ทำได้สำเร็จและส่วนที่เรายังไม่อิน หนังพยายามสร้างให้ธานอสเป็นตัวร้ายที่ทั้งน่ากลัวและน่าสงสารไปพร้อมกัน ส่วนที่ทำได้สำเร็จก็คือการสร้างให้ธานอสน่ากลัวและน่าเกรง โทนของหนังอยู่ที่บุคลิกส่วนนี้ของธานอสเป็นสำคัญ หากทำได้ไม่ถึงก็จะทำให้หนังทั้งเรื่องพังครืน เราจำเป็นต้องรู้สึกว่าทุกตัวละครของฝ่ายฮีโร่อาจตายได้จริงๆ เพราะความน่ากลัวของธานอส ยิ่งธานอสน่ากลัวเท่าไหร่ ความลุ้นระทึกเอาใจช่วยฝ่ายฮีโร่ก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งความสำเร็จส่วนนี้มาจากทั้งการแสดงของโบรลินและงานเทคนิคโมชั่นแคปเชอร์ประกอบกัน รังสีอำมหิตที่ผ่านน้ำเสียงของโบรลินนั้นทำได้ยอดเยี่ยมไม่ต่างจากที่ไอดริส เอลบา ในการให้เสียงเชียร์ข่านใน The Jungle Book เลย และน่ากลัวกว่าตัวร้ายที่มีมาทั้งหมดในหนังจักรวาลมาร์เวล

แต่ในแง่แรงจูงใจของธานอสแล้ว มันดูเข้าถึงยากอยู่ แม้ว่าธานอสจะบอกเหตุผลถึงการกระทำให้เรารู้ มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะเข้าใจได้ง่าย ต่างจากเหตุผลหรือแรงจูงใจที่ดูมีความเป็นมนุษย์โลกและจับต้องได้ง่ายกว่าอย่างวัลเชอร์ (ไมเคิล คีตัน) ใน Spider-Man: Homecoming ซึ่งแม้อาจไม่ได้มีพลังยิ่งใหญ่แบบธานอส ผมก็รู้สึกว่านี่ยังเป็นตัวร้ายที่มีการออกแบบมาดีที่สุดในหนังจักรวาลมาร์เวล นอกจากนี้ การสร้างตัวละครธานอสให้มีความรัก และชวนให้น่าสงสาร ก็เป็นอีกสิ่งที่เข้าไม่ถึง แม้ว่าโบรลินจะถ่ายทอดความรู้สึกส่วนนี้ผ่านเสียงออกมาได้ดีแค่ไหน แต่การที่ขาดการปูเรื่องที่มากพอมาตั้งแต่ในหนัง Guardians of the Galaxy ก็ทำให้ฉากแสดงความรักของธานอสส่วนนี้ดูแห้งแล้งและเนือย ตัวร้ายที่เรารู้สึกเห็นใจและสงสารได้มากกว่านี้ยังคงเป็นคิลมองเกอร์ใน Black Panther

มีข้อสังเกตอีกอย่างที่รู้สึกในหนังมาร์เวลที่ผ่านมาของพี่น้องรุสโซ ตั้งแต่ Captain America: The Winter Soldier, และ Captain America: Civil War ก็คือฉากแอ็คชั่น ที่ในช่วงเปิด กลางเรื่องและที่ตามมา มีการออกแบบได้ดีกว่าฉากต่อสู้สุดท้าย ฉากแอ็คชั่นก่อนหน้าฉากสุดท้ายทั้งหมดทำออกมาได้ตื่นเต้นเร้าใจ ขณะที่ฉากต่อสู้สุดท้ายมักเน้นให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ทั้งการสู้กันระหว่างกัปตันอเมริกากับบัคกี้, กัปตันอเมริกา บัคกี้ กับไอร์ออนแมน ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ทำให้กราฟอารมณ์ความตื่นเต้นของหนังตก หรือบางทีก็ทำให้รู้สึกเหมือนหนังมีสองไคลแม็กซ์โดยที่บางทีไคลแม็กซ์แรกพีคกว่า ใน Avengers: Infinity War ก็ยังเป็นเช่นนั้น ฉากบุกนิวยอร์ก, ฉากโจมตีวิชั่นกับวันดา, ฉากรุมธานอสบนไททัน ออกแบบมาได้ซับซ้อน ตื่นเต้น บางขณะก็มีช็อตที่ทำให้เราร้องว้าวได้ โดยเฉพาะการใช้พลังพิเศษของดร. สเตรนจ์ (เบเนดิคต์ คัมเบอร์แบตช์) และการใช้พลังพิเศษของอีโบนี มอว์ (ทอม วาห์น-ลอว์เลอร์)  สมุนเอกของธานอส มันดูตื่นตาและน่าสนใจกว่าฉากสงครามในวาคานด้าที่ดูเหมือนเป็นกองทัพตะลุมบอนกันธรรมดา

หากถามว่าความน่าผิดหวังที่สุดของหนังอยู่ที่ไหน คงไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังโดยรวม แต่อยู่ที่การถ่ายทำด้วยระบบ IMAX ที่อุตส่าห์ประชาสัมพันธ์ว่าเป็นหนังที่ถ่ายทำด้วยระบบ IMAX ดิจิตอล ทั้งเรื่องเป็นเรื่องแรกของโลก แต่งานที่ออกมามีเพียง “แค่ความใหญ่” แต่ไม่มีการใช้ IMAX ในการช่วยเล่าเรื่องใดๆ ให้พิเศษขึ้นเลย คลิปนับถอยหลังเข้าสู่การชมด้วยระบบ IMAX ที่มาก่อนหนังยังรู้สึกว่าใช้ความเป็น IMAX ได้คุ้มค่ากว่าหนังทั้งเรื่อง เราคาดหวังว่าจะได้เห็นสักฉากที่เหมือนพาเรากลืนหายเข้าไปในจอแบบที่ Mission: Impossible – Ghost Protocol หรือ Dunkirk ทำได้ แต่ Infinity War เหมือนไม่ได้มีการออกแบบใดๆ เลยที่จะใช้ IMAX ถ่ายทำ เหมือนแค่เปลี่ยนกล้องมาใช้ถ่ายทำเพื่อให้ได้ขนาดภาพที่ใหญ่ขึ้นแค่นั้น

การที่ IMAX ขาดนักสร้างหนังที่มีวิสัยทัศน์ในการใช้กล้องมาช่วยในการเล่าเรื่องให้มีความพิเศษ ไม่ช้าก็จะทำให้ขาดความน่าตื่นเต้น และลงเอยแบบหนัง 3D ในยุคปัจจุบันนี้ที่ผู้คนแทบไม่ค่อยรู้สึกสนใจแล้ว เพราะขาดผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ในการใช้ 3D มาช่วยเล่าเรื่องที่ทำได้ดีอย่างเจมส์ คาเมรอน, มาร์ติน สกอร์เซซี หรือ อัลฟองโซ คัวรอน

ความรู้สึกไม่สมบูรณ์ต่อหนัง Infinity War ไม่เพียงอยู่แค่ในองค์ประกอบของหนังหนึ่งเรื่องเท่านั้น แต่อยู่ที่ความเป็นหนังหนึ่งภาคของสองภาคด้วย ความรู้สึกหลังดูหนังเรื่องนี้จบเหมือนเป็นการดูหนังจบแค่ครึ่งเรื่อง มากกว่าการเป็นหนังที่จบหนึ่งภาคแล้วทิ้งปมไว้ให้รอดูภาคต่อ หนังเหมือนใช้เวลาทั้ง 2 ชั่วโมงครึ่งเพียงเพื่อเล่าปมที่รอไปคลี่คลายต่อในภาค 2 คล้ายกับตอนจบของซีรี่ส์หนึ่งตอน แต่ไม่ใช่หนังหนึ่งภาคที่สมบูรณ์ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งหนังแบบ Harry Potter and the Deathly Hallows – Part I ที่มีการหั่นครึ่งในลักษณะเดียวกันนี้ทำได้สมบูรณ์กว่ามาก รู้สึกอิ่มกว่า และรู้สึกเป็นหนังหนึ่งเรื่องมากกว่าทั้งที่เนื้อเรื่องของมันก็ยังไม่จบบริบูรณ์เหมือนกัน

ที่จริง การที่ภารกิจบางอย่างของตัวละครบรรลุแล้วก็ถือเป็นการจบได้ เพียงแต่โดยวิธีที่เลือกใช้อาจไม่เหมาะกับการเป็นตอนจบของหนังภาคแรก มันอาจจะทำให้รู้สึกสมบูรณ์กว่านี้ได้ถ้าช่วงเวลา 5 นาทีสุดท้ายของหนังมีการขยี้หรือยืดการเล่าเรื่องออกไปอีกหน่อยเพื่อคลี่คลายอารมณ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันทำได้สำเร็จในแง่ทำให้เราอยากชมภาค 4 ต่ออีกไวๆ ด้วยความที่มันทำให้หงุดหงิดและค้างคา

ส่วนที่มาเสริมการให้เราอยากดูภาค 4 อีกไวๆ นอกจากตอนจบแบบนี้ของหนังแล้ว ก็คือการที่มาร์เวลยังไม่ยอมประกาศชื่อภาคอย่างเป็นทางการ และการไม่ยอมประกาศว่าหนังในเฟส 4 จะมีเรื่องอะไรบ้าง ยิ่งการให้สัมภาษณ์ของเควิน ไฟกี ที่บอกว่า ใครที่ตายใน Infinity War ก็แปลว่าอาจไม่ได้กลับมาอีก ทำให้ความตื่นเต้นที่จะรอดูภาค 4 นั้นมากขึ้นว่าจะเป็นจริงเช่นนั้นไหม มาร์เวลจะล้างไพ่จริงๆ ไหม เหมือนที่เราลุ้นในตอนจบซีซั่นของ Walking Dead ว่าตัวละครไหนที่จะถูกฆ่า ความรู้สึกแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการดูหนังภาคต่อลักษณะนี้ เพราะการที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะมีภาคต่อเรื่องไหน และใครจะกลับมาร่วมแสดง มันเหมือนเป็นการสปอยล์ว่า ตัวละครนี้ตัวละครนั้นน่าจะรอด แต่กว่าจะประกาศชื่อภาค 4 ออกมา คงไม่แปลกหากเราจะเรียกมันก่อนว่า Infinity War Part 2 เพราะจากการจบของภาคแรกทำให้รู้สึกเป็นเช่นนั้นจริงๆ

 

Avengers: Infinity War

ผู้กำกับ: โจ และ แอนโธนี รุสโซ

ผู้เขียนบท: ของคริสโตเฟอร์ มาร์คัส กับ สตีเฟ่น แมคฟีลี

นักแสดง: จอช โบรลิน, คริส เอแวนส์, โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์, สการ์เลต โจแฮนสัน, คริส เฮมส์เวิร์ธ, มาร์ค รัฟฟาโล, ทอม ฮอลแลนด์, แชดวิค บอสแมน, เบเนดิคต์ คัมเบอร์แบทช์, คริส แพรตต์, ซูอี้ ซัลดานา, แอนโธนี แม็คกี้, เซบาสเตียน สแตน, เดฟ บาติสตา, ทอม ฮิดเดลสตัน, ดอน ชีเดิล, พอล เบททานี, อลิซาเบธ โอลเซ่น, วิลสัน ดุค, วิลเลี่ยม เฮิร์ต, พอม เคลเมนเทียฟ, แคเรน กิลแลน, วิน ดีเซล, แบรดลี คูเปอร์, กวินเนธ พัลโทรว์, เบเนดิคต์ หว่อง, ดาไร กูริรา, ลาลิเทีย ไรท์, ปีเตอร์ ดิงค์เลจ, และ เบนิซิโอ เดล โทโร

ความยาว: 149 นาที


Exit mobile version