ข้ามไปยังเนื้อหา

“น้ำพุ” (The Story of Nam Pu): หนังไทยอมตะ

“หนังอมตะมันเป็นแบบนี้นี่เอง” นั่นเป็นความรู้สึกแรกหลังจากที่ผมได้มีโอกาสชม “น้ำพุ” ของผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิท ที่ดัดแปลงจากหนังสือ “เรื่องของน้ำพุ” ของสุวรรณี สุคนธา ครั้งแรก เมื่อสองปีก่อน ตอนที่ทางไฟว์สตาร์ชวนไปชมหลังจากได้แปลงฟิล์มหนังเป็นระบบดิจิตอล เพราะแม้ว่าหนังจะฉายมาแล้วตั้งแต่ปี 2527 แต่ทั้งเนื้อหา บท การแสดง การเล่าเรื่อง ไม่ได้ดูเก่าสักเท่าไหร่เลย หนำซ้ำยังอาจดีกว่าหนังไทยยุคปัจจุบันหลายเรื่องด้วยซ้ำ เรื่องราวของหนังสามารถเอามาเป็นกรณีศึกษาได้ทุกเมื่อ ในแง่ให้เราเข้าใจถึงการขาดความรักและความอบอุ่นในวัยเด็กส่งผลทางจิตวิทยาให้คนคนหนึ่งเดินเข้าหาสิ่งเสพติดได้ยังไง ขณะที่เทคนิคการเล่าเรื่องก็ไม่ได้ดูเชยในยุคนี้ และการแสดงก็จัดว่าเป็นธรรมชาติและยอดเยี่ยมแบบที่หนังยุคนี้หลายเรื่องยังทำได้ไม่ถึง

ต้นฉบับของเรื่องราวมาจากเรื่องจริงของคุณสุวรรณี สุคนธา เอง ที่สูญเสียลูกชายไปเพราะยาเสพติด และอยากให้เรื่องราวของเธอกับลูกชายเป็นอุทาหรณ์เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำกับครอบครัวอื่น ซึ่งการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ของยุทธนา มุกดาสนิท ก็คงเจตนารมย์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ถ่ายทอดออกมาอย่างลึกซึ้งและเข้าใจ เผยให้เห็นเรื่องราวของปัญหาจากทุกมุมมองแล้วให้คนดูได้เห็นว่าอะไรเป็นอะไรในลักษณะที่เหมือนกำลังดูเรื่องราวโศกนาฏกรรมของชีวิตคนคนหนึ่งแล้วใช้วิจารณญาณเอาเองถึงที่มาที่ไปของปัญหาและจะหาทางป้องกันยังไง โดยไม่ได้ตัดสินตัวละครไหนแบบที่หนังหรือละครสะท้อนปัญหาวัยรุ่นที่เราเห็นอยู่ดาษดื่นชอบทำ

เรารู้ว่าคนที่ติดยามักมีปัญหา แต่ในสายตาของคนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าไม่มีใครในโลกนี้หรอกที่ไม่มีปัญหา พวกเขาก็มีปัญหากันทุกคน แต่ก็ไม่ได้ไปเสพยากัน แล้วทำไมน้ำพุจึงติดยาได้ คำตอบของน้ำพุคือ “มันเป็นเพื่อนในเวลาที่พุเหงา”

ความเหงาของน้ำพุเริ่มต้นจากการที่เขาขาดความรักความอบอุ่นในวัยเด็ก พ่อแม่แยกทางกัน พ่อทิ้งครอบครัวไปมีภรรยาใหม่ทำให้แม่ต้องกลายเป็นเสาหลักของบ้าน ต้องดิ้นรนทำงานและไม่ได้อยู่ใกล้ชิดลูกๆ และเมื่อแม่มีคนรักใหม่ น้ำพุก็รู้สึกว่ากำลังถูกแย่งชิงความรักไป จึงกลายเป็นเด็กที่เหงาและโหยหายความรักอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะว่าไปก็คือการเป็น “โรคขาดรัก” ที่เราเห็นได้ทั่วไป

อาการอย่างหนึ่ีงของคนเป็นโรคขาดรักก็คือ การขาดความเป็นตัวของตัวเอง การที่ต้องแสวงหาการยอมรับและความรักจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็อยากเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนๆ จนยอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะเข้ากับกลุ่มของเพื่อนๆ ได้ ถ้าอย่างในซีรี่ส์ “ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น” เราก็จะได้เห็นกรณีที่ตัวละครโกหกเพื่อนเรื่องฐานะเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ส่วนในกรณีของน้ำพุก็คือการลองเสพยาที่เพื่อนๆ ชักชวน ยาเสพติดจึงกลายเป็นสิ่งทดแทนความรักที่ขาดหายไปของน้ำพุ เพราะมันทำให้น้ำพุเข้าใจว่ามันได้ทำให้เขากลายเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเขาไม่รู้สึกว่าได้จากภายในบ้าน เมื่อใดที่เขารู้สึกว้าเหว่ รู้สึกไม่เป็นที่สนใจจากคนรอบข้าง ยาเสพติดก็กลายมาเป็นสิ่งทดแทนนั้น จนถลำลึกถึงขั้นติดยา

หนังได้พาเราเข้าสู่จิตใจของความเหงาที่เกิดจากความรู้สึกขาดรักนั้นว่าแตกต่างจากคนทั่วไปยังไง ทั้งการเล่าเรื่องด้วยภาพที่เหมือนความฝันเพื่อสะท้อนและเป็นสัญลักษณ์ความรู้สึกในจิตใจ ทั้งผ่านการแสดงอันยอดเยี่ยมของอำพล ลำพูน ซึ่งอย่างหลังนี้เองที่ได้ผลชะงัดที่สุด แม้จะด้วยบทบาทการแสดงในตอนนั้นที่เป็นหนังเรื่องที่สองของเขาเอง แต่ก็ให้การแสดงที่ถ่ายทอดผ่านสายตาที่ดูเหงาและเศร้าได้อย่างน่าสงสาร จากภายนอกที่ดูเหมือนเป็นเด็กวัยรุ่นขบถ หัวแข็ง

และแม้ว่าความเหงาของน้ำพุจะเกิดจากความรู้สึกว่าขาดรักจากแม่เป็นหลัก แต่หนังก็ไม่ได้แสดงเห็นเลยว่าแม่ไม่ได้รักน้ำพุ กลับกัน เราได้เห็นผ่านการแสดงอันยอดเยี่ยมของคุณภัทราวดี มีชูธน ว่ารักน้ำพุอย่างมาก และไม่ต่างจากความรักที่มีให้แก่ลูกคนอื่นๆ เพียงแต่วิธีการแสดงความรักนั้นต่างหากที่อาจไม่ได้สนองตอบต่อความต้องการของผู้เป็นลูก หรือลูกไม่เข้าใจว่านั่นคือการบอกรักที่ผู้เป็นแม่ที่จะทำได้ในยามนั้น เพราะในยามที่ครอบครัวขาดที่พึ่งและขาดรายได้ การที่แม่ต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้มาดูแลลูกๆ ทั้งสามคน ส่งเสียเล่าเรียน ให้มีทุกอย่างทัดเทียมลูกๆ ของคนอื่น และสร้างครอบครัวให้มั่นคง จึงมักเป็นวิธีแสดงความรักที่แม่ต้องทำก่อนเป็นอย่างแรกๆ ทั้งการที่ครอบครัวมีแต่ผู้หญิงก็ทำให้แม่ขาดความเข้าใจความต้องการของลูกที่เป็นผู้ชายด้วย

การได้ให้เราเห็นทุกมุมมองของปัญหานี้และเล่าได้อย่างลึกซึ้งนี้เองที่หนังเรื่องนี้ทำได้เหนือกว่าหนังไทยหรือละครเรื่องอีกหลายเรื่อง แม้แต่บางเรื่องที่ฉายให้เราดูกันในยุคนี้ ที่บางทีก็สร้างให้พ่อแม่เป็นตัวร้ายแบบซ้ำซากแทนที่จะเผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่แม้จะมีความรักและแรงจูงใจที่ดี แต่ก็ทำผิดพลาดเป็น

ความน่าสนใจของหนัง “น้ำพุ” อีกอย่าง ก็คือการเป็นเหมือนการบันทึกทางประวัติศาสตร์เล็กๆ สำหรับผู้ชมในยุคนี้ เพราะคุณจะได้เห็นว่าสภาพของกรุงเทพฯ ในยุคนั้นเป็นยังไง หน้าตาของศูนย์การค้าสยามและภายในที่ไม่มีอีกแล้ว การใช้ชีวิตและแฟชั่นของวัยรุ่นที่ร่วมสมัยของยุคนั้นจริงๆ แบบที่หนังย้อนยุคในยุคปัจจุบันสร้างบรรยากาศให้ไม่ได้

ไฟว์สตาร์เคยมีแผนที่จะนำ “น้ำพุ” กลับมาฉายในโรงตอนที่หนังอายุครบ 30 ปี แต่ดูเหมือนว่าล้มเลิกไปด้วยเหตุผลสักอย่าง นี่เป็นหนังไทยที่ควรดูในโรงสักครั้งครับ ซึ่งถ้าคุณอยากชมก็จะมีให้ชมในเทศกาลหนังไต้หวันกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 18-23 มกราคมนี้ที่โรงภาพยนตร์ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ลองตรวจสอบรอบได้ที่เฟซบุกของผู้จัดเทศกาลหนังครับ

น้ำพุ (The Story of Nam Pu)

ผู้กำกับ: ยุทธนา มุกดาสนิท

อำนวยการสร้าง: เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

บทประพันธ์: สุวรรณี สุคนธา

บทภาพยนตร์: ยุทธนา มุกดาสนิท

นักแสดง: ภัทราวดี มีชูธน, อำพล ลำพูน, วรรษมน วัฒโรดม, เรวัต พุทธินันทน์, สุเชาว์ พงษ์วิไล, อำนวย ศริริจันทร์

จัดจำหน่าย: ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น

ความยาว: 130 นาที

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.