มิเชล วิลเลี่ยมส์ ได้ค่าตัวไม่ถึง1% ของวอห์ลเบิร์ก จากถ่ายซ่อม All the Money in the World

หลังจากข่าวอื้อฉาวเรื่องการละเมิดทางเพศของเควิน สเปซี แพร่ออกมา ผู้กำกับริดลี่ย์ สก็อต ตัดสินใจถ่ายซ่อม All the Money in the World ใหม่ โดยตัดฉากของสเปซีออกหมด แล้วให้คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ มารับบทแทน ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวดราม่าพอสมควรเมื่อราวเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ล่าสุดตอนนี้มีเรื่องราวดราม่าหนักกว่านั้นตามมาว่าด้วยความต่างของค่าตัวนักแสดงของเรื่องครับ

ดูเหมือนว่าชื่อหนังที่ว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ เรื่องนี้ได้เกิดดราม่าว่าด้วยเงินๆ ทองๆ ขึ้นมาจริงๆ หลังฉากการถ่ายทำครับ เพราะมีรายงานออกมาว่ามิเชล วิลเลี่ยมส์ ได้ค่าตัวไม่ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่มาร์ค วอห์ลเบิร์ก นักแสดงชายที่รับบทคู่กับเธอได้ค่าตัวจากการถ่ายซ่อมหนัง 1.5 ล้านเหรียญเลย เท่ากับวิลเลี่ยมส์ได้ค่าตัวไม่ถึง 1% จากที่วอห์ลเบิร์กได้จากการถ่ายซ่อมหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

ในการถ่ายซ่อมหนัง เพื่อตัดฉากของสเปซีออกไปแล้วใส่พลัมเมอร์มาแทนของหนังเรื่องนี้ มีรายงานว่าใช้งบไปราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานบอกว่าทุกคนกลับมาทำงานให้ฟรีๆ ยกเว้นพลัมเมอร์ที่มารับบทแทนสเปซี

การถ่ายซ่อมทั้งหมด ถ้าในกรณีปกติคงต้องใช้เงินแพงมาก แต่ครั้งนี้ไม่มากเท่าที่คุณคิด เพราะว่าทุกคนกลับมาทำงานให้ฟรีๆ ผมเองก็ไม่ได้ค่าจ้าง ผมปฏิเสธที่จะรับค่าจ้าง นักแสดงก็กลับมาทำงานให้ฟรี คริสโตเฟอร์ได้ค่าตัว แต่มิเชลไม่รับค่าตัว ผมไม่รับค่าตัว ผมคงไม่กล้าทำแบบนั้น” นั่นเป็นคำกล่าวของผู้กำกับสก็อตที่เล่าแก่ USA Today เกี่ยวกับเบื้องหลังการถ่ายซ่อม

แต่ปรากฏว่าวอห์ลเบิร์กเรียกเงิน 1.5 ล้านเหรียญเพื่อการต้องกลับมาเข้าฉากซ้ำและถ่ายซ่อมในครั้งนี้ ตามที่ USA Today ได้สืบทราบมาจากสามแหล่งข่าว ขณะที่มีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้วิลเลี่ยมส์ราววันละ 80 เหรียญ ซึ่งรวมกันแล้วไม่ถึง 1,000 เหรียญ หลังจากที่เธอมาเข้าฉากทุกคิวแล้ว วิลเลี่ยมส์ไม่รู้เรื่องค่าตัวของวอห์ลเบิร์กเลย ทั้งที่ทั้งคู่ใช้บริษัทตัวแทนเดียวกัน และทั้งที่เธอมีระดับค่าตัวสูงกว่าวอห์ลเบิร์กในหนังเรื่องนี้

ก่อนหน้าน วิลเลี่ยมส์ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ดังกล่าวว่าเธอยอมมาทำงานให้ฟรีๆ และยอมที่จะไม่หยุดในช่วงวันหยุดเทศกาลตอนที่หนังถ่ายซ่อม เพราะเธอประทับใจการทุ่มเทของทีมผู้อำนวยการสร้างที่ต้องการกอบกู้หนังเรื่องนี้ไว้ “ฉันบอกว่า ฉันยินดีไปไม่ว่าที่ไหนที่พวกเขาให้ไป ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่พวกเขาต้องการตัวฉัน และพวกเขาเอาค่าตัวของฉันไปได้เลย เอาวันหยุดของฉันไปได้เลย เอาทุกอย่างไปได้เลย เพราะฉันซาบซึ้งมากที่พวกเขาพยายามอย่างหนักขนาดนี้

ฉันเทิดทูนสก็อต ฉันบูชาเขา ฉันยอมทำทุกอย่างเพื่อเขา ฉันเกลียดการที่ต้องเห็นว่าเวลาของชายคนนี้ ความเชี่ยวชาญของเขา ความเป็นสุภาพบุรุษของเขาจะต้องสูญเปล่า พอมีโทรศัพท์โทรมาบอกว่าเรื่องการเปลี่ยนแผน ฉันตื่นเต้นมาก

ก่อนหน้าที่ USA Today จะรายงานข่าวนี้โดยละเอียด The Washington Post ได้รายงานมาก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่าวอห์ลเบิร์กนั้นมีนิสัยเรียกร้องเงินค่าตัวมากขึ้น เช่นในหนัง Deepwater Horizon ที่ผู้กำกับเจ.ซี แชนเดอร์ ถอนตัวออกจากโครงการหนังในช่วงเตรียมงานสร้าง เพราะวอห์ลเบิร์กเรียกร้องค่าตัวมากเกินไปจากทุนสร้างที่มี

ในรายงานระบุว่าวอห์ลเบิร์กยืนกรานที่จะต้องการให้ได้ค่าตัวเพิ่มสำหรับ All the Money in the World โดยมีสตีเวน เลวิสัน ผู้จัดการส่วนตัว เป็นคนดำเนินการเจรจาให้ และระบุว่าวอห์ลเบิร์กต้องการค่าตัว 2 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 20% ของงบที่ใช้ถ่ายซ่อมหนัง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าวอห์ลเบิร์กจะได้ไปสำเร็จ เพราะเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานบอกด้วยว่าเขาเป็นนักแสดงที่ได้เงินมากที่สุดของปีที่ผ่านมา

ข่าวการเปิดเผยเรื่องค่าตัวนี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เรื่องความไม่เท่าเทียมกันด้านเพศของนักแสดงในฮอลลีวู้ด ไม่เพียงแค่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น

ที่มา: USA Today / The Washington Post

5 comments

  1. Mark อาจไม่รู้เรื่องของ Mich. ก็ได้
    แต่เรื่องจะง่ายมาก ถ้าเฮียเอาเงินสองล้านมาแบ่งนาง
    แค่นนี้ก็ดูแมนแล้ว ยังไม่ต้องดราม่าไปไหนเลย
    (แต่ถึงไม่แบ่ง เราก็ควรมองเรื่องนี้เป็นกลางหน่อย
    เพราะเราเป็นคนนอก ไม่รู้ว่าใครอะไรยังไงด้วยสิ)

  2. ถ้าเอาตามเนื้อข่าวคือคนนึงเรียกค่าตัวอีกคนไม่เรียกมันจะต่างกันก็ไม่แปลกป่ะ ถ้าบอกว่าเรียกค่าตัวทั้งคู่ แต่ฝ่ายหญิงไม่ได้นี่สิ่ถึงค่อยมาบอกว่าไม่เท่าเทียม ฝรั่งนี่ก็ดราม่าตลกดีนะ 5 5

  3. ผมว่าMark ทำถูกนะคับ งานแบบนี้ถ้าอนาคตมาไม่มีใครจ้างเล่นหนังแล้วจบเลย ดังนั้นการที่ mark เรียกค่าตัว นี่ก็สิทธิ์ของเค้า แล้วนี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศเลย ฝ่ายหญิงเค้าไม่เอาค่าตัวเอง ถือว่าเป็นคนที่ใจบุญมาก

  4. เรื่องของเรื่องคือทุกคนยอมทำงานแบบไม่มีค่าตัว ขนาดผู้กำกับยังไม่กล้ารับค่าตัวเลย
    แต่วอห์ลเบิร์กเรียกค่าตัวหนักๆ อยู่คนเดียว แถมไม่ใช่ครั้งแรกด้วย อีกประเด็นคือมันเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศเต็มๆ ในเมื่อคนเจรจาค่าตัวของทั้งคู่เป็นคนเดียวกัน ย่อมรู้ว่าตัวเลขมันห่าง แล้วยังปล่อยผ่าน ทั้งๆ ที่วิลเลียมส์น่าจะภาษีดีกว่า (ต่อให้บอกว่าหนังวอห์ลเบิร์กทำเงินเยอะ แต่วิลเลียมส์ก็สายรางวัล) นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาเอมี อดัมส์ยังได้ค่าตัวน้อยกว่านักแสดงชายในอเมริกัน ฮัสเซิล ทั้งๆ ที่เป็นเอลิสต์เหมือนกัน

    เราว่าพวกตัวแทนนักแสดงน่าจะช่วยเป็นหูเป็นตาให้นักแสดงตัวเองมากกว่านี้ เพราะนักแสดงบางคงไม่ออกมาเรียกร้องกับสตูดิโอเองอยู่แล้ว (โดยเฉพาะพวกเน้นบท ไม่เน้นเงิน หรือไม่ก็รวยจัดอยู่แล้ว แต่จริงๆ สนหน่อยก็ดี) มันต้องผ่านตัวแทน ลำพังนักแสดงไม่น่าจะรู้ว่าเรตคนอื่นได้เท่าไหร่ คนที่รู้เยอะกว่าก็คือที่ไปเจรจา

Leave a Reply