ข้ามไปยังเนื้อหา

ความเห็นของมาร์ติน สกอร์เซซี ต่อหนัง mother! และ Rotten Tomatoes

“หนังดีจากคนทำหนังตัวจริงไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้มองออก เสพ หรือเข้าใจโดยทันที หนังดีไม่ได้มีเพื่อให้ชอบโดยทันทีด้วยซ้ำ”

ผู้กำกับตำนาน มาร์ติน สกอร์เซซี ได้ไปเป็นนักเขียนรับเชิญให้ The Hollywood Reporter และเขียนถึงการประเมินคุณค่าภาพยนตร์ด้วยรายได้หนังหรือบ๊อกซ์ออฟฟิศ และการให้คะแนนหนังของ Rotten Tomatoes กับ CinemaScore ต่อหนัง mother! ของผู้กำกับแดเรน แอโรนอฟสกี้ ที่เป็นประเด็นตามสื่อฮอลลีวู้ดเมื่อไม่นานมานี้ครับ บางอย่างในบทความที่สกอร์เซซีเขียนมีมุมมองที่น่าสนใจที่คิดว่าควรนำมาแปลเพื่อบอกต่อแม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็มีหลายประเด็นที่ทำให้กลับมาฉุดคิด ได้ทบทวนตัวเองและเกิดมุมมองใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจเหมือนกันครับ

mother! ได้เกรด F จาก CinemaScore ซึ่งเป็นคะแนนจากการที่บริษัทด้านการตลาดไปสำรวจความเห็นผู้ชมหลังจากดูหนังจบ จากนั้นเกรด F ก็กลายเป็นประเด็นในสื่อเอาไปขยายต่อ ขณะที่ผู้กำกับแอโรนอฟสกี้ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจและคาดเดาได้ว่าทำไมถึงได้เกรดสอบตกแบบนี้จากผู้ชม ทีมการตลาดยังใช้ความเห็นนักวิจารณ์ฝั่งชมและด่ามาตีคู่ให้ผู้ชมไปพิสูจน์กันด้วยตัวเองด้วยครับ และนี่คือมุมมองของสกอร์เซซีต่อเรื่องทั้งหมดนี้

ผมไม่คิดหรอกนะว่าจะมีใครคิดถึงสมัยที่เรายังเรียนอยู่ และถูกตัดเกรดเวลาทำงาน ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ แต่ผมไม่คิดว่าจะมี

ตอนที่ผมเรียนจบ ผมคิดกับตัวเองว่า “แจ๋วเลย ไม่ต้องห่วงเรื่องเกรดอีกแล้ว!” นั่นเป็นความคิดก่อนการฉายรอบพิเศษหนังเรื่องแรกของผม ถามคนทำหนังคนไหนๆ ก็ย่อมบอกเหมือนกันว่า ประสบการณ์ของรอบพรีวิวนั้นโหดร้ายมาก บางครั้งก็ทำลายล้างจริงๆ อย่างเช่นกรณีของรอบพรีวิวอันโด่งดังของหนังเรื่อง The Magnificent Ambersons ของออร์สัน เวลล์ส์ ที่อาร์เคโอจัดที่โพโมนา ผู้บริหารสตูดิโอใช้ผลตอบรับด้านลบจากการฉายรอบนั้นแล่เถือหนังฉบับตัดต่อดั้งเดิมของเวลส์ที่ตอนนี้เป็นที่รู้กันว่า เป็นหนังใกล้เคียงขั้นผลงานชิ้นเอกที่ถูกทำให้เสียหาย

บางครั้ง เมื่อทุกคนทำงานร่วมกัน รอบทดสอบอาจช่วยตอบคำถามพื้นๆ ได้ ชิ้นส่วนข้อมูลนี้ชัดเจนดีพอสำหรับผู้ชมไหม จังหวะของฉากนี้เหมาะสมไหม อะไรทำให้ผู้ชมหลุดจากความสนใจในตอนนั้น แล้วทำไมมันไม่เข้าเป้า ประเด็นเล็กๆ แต่เฉพาะเจาะจงสุดๆ อาจทำให้กระจ่างชัดได้

แล้วจากนั้น เมื่อหนังได้รับการสร้างออกมาก็จะมีบทวิจารณ์รีวิว ผมเองก็เหมือนทุกคน ได้รับคำวิจารณ์ที่มีทั้งบวกและลบ แน่นอนว่าบทวิจารณ์ด้านลบไม่สนุกนัก แต่มันก็เป็นสิ่งที่มาพร้อมการทำอาชีพนี้ อย่างไรก็ตาม ผมขอบอกว่าในอดีตนั้น เมื่อนักวิจารณ์บางคนมีปัญหากับหนังเรื่องหนึ่งของผม โดยหลักๆ พวกเขาก็จะมีปฏิกิริยาออกมาอย่างมีวิจารณญาณ มีจุดยืนอย่างแท้จริงที่พวกเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องโต้แย้ง

กว่า 20 ปีมานี้ หลายอย่างเปลี่ยนไปในวงการภาพยนตร์ สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นมีในทุกระดับ ตั้งแต่วิธีการสร้างภาพยนตร์ไปจนถึงวิธีการชมและถกเถียงพูดคุย หลายอย่างในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีทั้งด้านที่ดีขึ้นและด้านที่แย่ลง เป็นต้นว่าเทคโนโลยีดิจิตอลทำให้คนหนุ่มสาวสร้างหนังกันได้แบบทันทีทันใด อย่างมีอิสระโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน การหายไปของเครื่องฉาย 35ม.ม. จากโรงหนังส่วนใหญ่ในการฉายรอบแรกก็ถือเป็นการสูญเสียอย่างยิ่ง

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อว่าไม่มีด้านดีขึ้นเลยไม่ว่าในแง่ไหนก็ตาม มันเริ่มมาตั้งแต่ยุค 80 เมื่อ “บ็อกซ์ออฟฟิศ” เริ่มที่จะผลุดขึ้นมากลายเป็นความหมกมุ่นเฉกเช่นทุกวันนี้ สมัยผมยังหนุ่ม รายงานตัวเลขรายได้หนังมีอยู่เฉพาะในหนังสือพิมพ์ของแวดวงอุตสาหกรรมนี้เช่นเดอะ ฮอลลีวู้ด รีพอร์เตอร์ แต่สมัยนี้ ผมเกรงว่ามันได้กลายเป็น…ทุกอย่างไปแล้ว รายงานรายได้หนังแฝงอยู่ในเกือบทุกการพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ และบ่อยครั้งที่เป็นมากกว่าแค่สิ่งที่แฝงอยู่ พฤติกรรมการตัดสินอันโหดร้ายที่ทำให้รายได้เปิดตัวหนังในสุดสัปดาห์กลายเป็นความบันเทิงที่กระหายเลือดดูเหมือนถูกใช้เป็นแนวทางการวิจารณ์หนังอันโหดร้ายมากขึ้น ผมกำลังพูดถึงเหล่าบริษัทวิจัยด้านการตลาดอย่าง Cinemascore ที่เริ่มต้นในปลายยุค 70 และ “เว็บไซต์ที่ดึงบทความมาจากที่อื่น” (aggregators) อย่าง Rotten Tomatoes ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการวิเคราะห์วิจารณ์หนังจริงๆ เลย พวกเขาให้คะแนนภาพยนตร์เหมือนที่คุณให้คะแนนม้าในสนามแข่ง หรือร้านอาหารในเว็บให้คะแนนร้านอาหาร หรือเครื่องใช้ภาพในบ้านในเว็บ Consumer Reports พวกเขาเข้ามายุ่งทุกอย่างในธุรกิจภาพยนตร์ แต่ไม่เคยเกี่ยวข้องสักนิดในด้านสร้างสรรค์หรือการให้มุมมองที่ฉลาดๆ แก่หนัง คนทำหนังถูกลดทอนกลายเป็นผู้ผลิตเนื้อหา และผู้ชมถูกลดระดับกลายเป็นผู้บริโภคที่ไม่กล้าผจญภัย

บริษัทและเว็บไซต์รวมบทความเหล่านี้ได้ตั้งหลักเกณฑ์ที่เป็นปรปักษ์ต่อนักทำหนังจริงจัง แม้กระทั่งการตั้งชื่อว่า Rotten Tomatoes ก็เป็นการดูถูกเหยียดหยาม และเมื่อการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เขียนด้วยผู้คนที่มีความคลั่งไคล้และความรู้จริงๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ได้ค่อยๆ เลือนหายไป ก็ดูเหมือนมีแต่เสียงที่เอาแต่ด่าทอตัดสินเพียงอย่างเดียวดังมากขึ้นๆ ผู้คนที่ดูเหมือนสนุกในการดูหนังแล้วเห็นคนทำหนังถูกปฏิเสธ ถูกเพิกเฉย และในบางกรณี ถูกฉีกเนื้อจนเป็นชิ้นๆ ไม่ต่างจากฝูงชนที่เอาเป็นเอาตายและกระหายเลือดเพิ่มมากขึ้นๆ ในตอนจบของ mother! ของแดเรน แอโรนอฟสกี้

ก่อนที่ผมจะได้ดู mother! จริงๆ ผมหงุดหงิดใจอย่างที่สุดจากคำตัดสินอันรุนแรงเหล่านั้น ผู้คนมากมายดูเหมือนจะอยากให้คำนิยามแก่หนัง ตีกรอบมัน ค้นหาว่ามันต้องการอะไรและสาปแช่งมัน และหลายคนก็ดูเหมือนจะสะใจที่มันได้เกรด F จาก Cinemascore แล้วเรื่องนี้ก็กลายเป็นบทความข่าวเป็นจริงเป็นจัง mother! ถูกตบหน้าด้วยเกรด F ของ CinemaScore อันน่าสะพรึง แย่พอๆ กับหนังของโรเบิร์ต อัลท์แมน, เจน แคมเปียน, วิลเลียม ฟรีดกิน และ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก

หลังจากผมได้มีโอกาสชม mother! ผมยิ่งหงุดหงิดใจไปกับการรีบตัดสินเหล่านี้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ผมอยากแบ่งปันความคิดเห็น ผู้คนดูเหมือนออกมาไล่สับเพียงเพราะว่าหนังไม่อาจนิยามได้ง่ายๆ หรือตีความได้ง่ายๆ หรือหดเหลือคำพูดเพียงสองคำ มันเป็นหนังสยองขวัญ หรือเป็นหนังตลกร้าย หรือเป็นนิทานแฝงคติไบเบิล หรือเป็นนิทานสอนใจเรื่องศีลธรรมและการทำลายสิ่งแวดล้อม บางที มันอาจเป็นทั้งหมดนั้นอย่างละนิดหน่อย แต่ไม่ใช่อยู่ในหมวดหนึ่งหมวดใดเพียวๆ แน่นอน

หนังจำเป็นต้องได้รับการอธิบายไหม แล้วประสบการณ์ในการชม mother! ล่ะ มันทั้งสัมผัสได้ มีการจัดวางและการแสดงอย่างยอดเยี่ยมสวยงาม มุมกล้องที่แสดงความเห็นส่วนตัว และกลับมุมมองผ่านสายตาซึ่งเคลื่อนที่อยู่ตลอด…การออกแบบเสียง ที่พุ่งใส่ผู้ชมจากทุกมุมและนำคุณดำดิ่งลงไปลึกขึ้นๆ ในฝันร้าย…การค่อยๆ คลี่เรื่องราวออกซึ่งยิ่งทำให้ปั่นป่วนใจมากขึ้นเมื่อหนังดำเนินไป ความเป็นหนังสยองขวัญ หนังตลกร้าย เนื้อหาไบเบิล นิทานสอนใจ มันอยู่ในนั้นทั้งหมด แต่มันเป็นองค์ประกอบในประสบการณ์รวมทั้งหมดที่กลืนตัวละครกับผู้ชมร่วมไปด้วย มีแต่นักทำหนังตัวจริงและมีความคลั่งไคล้เท่านั้นที่จะทำหนังเช่นนี้ได้ ซึ่งผมยังคงได้ประสบการณ์นั้นอยู่หลายสัปดาห์หลังจากชมหนัง

หนังดีจากคนทำหนังตัวจริงไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้มองออก เสพ หรือเข้าใจโดยทันที หนังดีไม่ได้มีเพื่อให้ชอบโดยทันทีด้วยซ้ำ มันถูกสร้างมาแค่เพราะคนที่อยู่หลังกล้องต้องทำมันออกมา และใครก็ตามที่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ย่อมรู้ดี มีรายชื่อหนังมากมายยาวเฟื้อย เช่น The Wizard of Oz, It’s a Wonderful Life, Vertigo และ Point Blank เป็นต้น ที่ถูกปฏิเสธในทีแรกตอนที่ออกฉายแล้วกลายเป็นหนังคลาสสิคในภายหลัง การให้คะแนนของ Tomatometer และการให้เกรดของ Cinemascore ไม่ช้าก็จะหายไป หรือบางทีอาจถูกเขี่ยไปโดยอะไรที่แย่กว่าด้วยซ้ำ

หรือบางที พวกมันอาจจะเลือนลางและจางหายไปด้วยแสงแห่งดวงวิญญาณดวงใหม่ของผู้ที่มีความสามารถในการอ่านเขียนเรื่องภาพยนตร์ ขณะเดียวกัน การรังสรรค์ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความรักอย่าง mother! จะยังคงเติบโตในจิตใจของเรา

 

1 ความเห็น »

  1. ผมก็มีหลายเรื่องที่ดูแล้วสวนทางกับเว็บมะเขือเน่านะ
    ตอนดูเรื่อง mother! จบออกมา แฟนผมนี่ด่าเละเลย เพราะดูแล้วงง เข้าใจยาก
    ผมเองดูจบก็งง แต่ตัวหนังมันให้ความบันเทิงแบบกดดันดีนะ เป็นความรู้สึกที่แปลกอีกแบบ
    แต่จบแล้วไม่เคลียร์อย่างแรง ต้องมาคอยหาบทวิเคราะห์ตอนจบอ่าน ถึงจะพอเข้าใจ

    ผมว่าคนทำหนังถ้าชัดเจนในงานที่ทำ ก็ต้องยอมรับให้ได้ในสิ่งที่จะตามมา
    ถ้าเลือกที่จะทำหนังแนวนี้แล้ว แน่นอนมันไม่ใช่กระแสตลาดแน่ๆ
    ผู้ชมคาดหวังความบันเทิงที่ย่อยง่าย บวกกับดารานำก็เรียกแขกมากจริงๆ

  2. ถึงยุคที่ตนเองเป็นใหญ่ เมื่อดูหนังสักเรื่องแล้วไม่เข้าใจ หมายความว่า “มันห่วย” ทั้งๆที่หนังหลายๆเรื่องต้องใช้ Skill ในการรับชม หรือบาที ดูหนังแล้วไม่เป็นอย่างที่คิด ก็เลยบอกว่า “มันห่วย” ส่วนเวปวิจารณ์หนัง บางเวปก็ใช้วิธีสวนกระแส พยายามจับผิดหนังที่ออกมายอดเยี่ยม เพื่อเรียกยอดคนดูเข้าเวป ก็เท่านั้นเอง

  3. ความเห็นของมาร์ตินน่าสนใจ และได้มุมมองใหม่ๆ จริงๆ แต่ก็เห็นด้วยกับพี่ยุทธอีก ผมเองก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับมาร์ติน

  4. ภาพเขียน
    ต่อให้หมื่นคนจนไม่ชอบ
    ขอเพียงสิบคนรวยชอบ
    มันก็มีค่าราคาแพง

    ผมคนจน
    จะขายของให้ผม
    แต่ทำให้ผมงงไม่ชอบไม่ซื้อ
    เมื่อขายไม่ได้
    ก็อย่าด่าว่าผมโง่ ดูของไม่เป็น

  5. ผมคิดว่า ด้วยองค์ประกอบ และ ปัจจัยหลายๆอย่าง กว่าที่ภาพยนตร์จะตัดต่อออกมาได้อย่างสมบูรณ์ มันอาจทำให้ สิ่งที่ผู้ กำกับต้องการจริงๆ มีไม่ถึง 95% ของตัวเองนะครับ และเชื่อว่า สิ่งที่เราๆจะได้เสพกันจนติด เปนสูตร คือ หนังแมส ส่วนหนังที่มานั่งตีความกัน มันก็ยังคงอยู่ละครับ แต่จะมีใครมานั่งตีความให้คนเสพติด หนังแมสฟังละครับ… ป่วยการ เพราะบางครั้งเสน่ห์ของหนังมันถึงขั้นที่ คนอยากจะตีความให้ได้ ยังไม่สามารถจะตีออกเลยครับ.

    นักวิจารณ์บางท่าน ผมยังไม่เห็นด้วย ก็มีเยอะไปครับ

  6. ก็จริงนะ มันอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างสรรค์ ศิลปะในการทำหนัง
    แต่กับยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเกี่ยวกับเงิน ตัวเลขแล้ว หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้จริงๆ
    สำหรับคนทั่วไป ทั้ง Cinemascore กับ Rotten Tomatoes เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการตัดสินใจที่จะต้องจ่ายเงิน + เวลา ในการไปดูหนังเรื่องๆนึง ได้ดีเลย แม้ว่าบางครั้งความคิดเห็นกับหนังเรื่องนั้นๆอาจสวนทางกันก็ตาม

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.