ข้ามไปยังเนื้อหา

JEDIYUTH’s Review: Passengers คู่โดยสารพันล้านไมล์

passengers-reviewPassengers

ไปไม่ถึงดวงดาว

(เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญของหนัง ยังไม่ควรอ่านหากไม่อยากรู้อะไรเลยก่อนเข้าชม)

Passengers บอกเราตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ยานอวาลอน ยานสำราญอันหรูหราตระการตาและสุดไฮเทค ถูกอุกกาบาตลูกมหึมาพุ่งชนเกราะป้องกันจนเสียหายคล้ายกับที่เรือไททานิกชนกับภูเขาน้ำแข็งกลางมหาสมุทรว่าหนังเรื่องนี้มีความเป็น Titanic ฉบับเดินทางในอวกาศ มันสร้างความน่าสนใจได้ตั้งแต่เปิดเรื่องเลยด้วยแนวคิดที่หนังต้องการนำเสนอนี้ และเราก็น่าจะได้ซาบซึ้งไปกับความรักของคู่พระนางและตื่นเต้นไปกับการพยายามเอาตัวรอดท่ามกลางหายนะของยานที่กำลังจะอับปาง ยิ่งการมีเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กับ คริส แพรตต์ มารับบทนำด้วยยิ่งทำให้เราคาดหวังสูงขึ้น แต่เมื่อหนังดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เราได้เห็นว่าระบบต่างๆ ของยานเริ่มพังมากขึ้นๆ เพราะอุกกาบาตลูกนั้น พอๆ กับเห็นความพินาศของทิศทางกับตัวบทของหนัง และไม่ว่ายานอวาลอนจะเดินทางไปถึงดาวอาณานิคมที่เป็นจุดหมายปลายทางของมันหรือไม่ หนัง Passengers กลับไปไม่ถึงเป้าหมายตามแนวคิดตั้งต้นนั้น หนังล้มเหลวทั้งในแง่การเป็นหนังรักโรแมนติก ไม่อาจทำให้เราเชื่อในความรักของตัวละครได้เลย ส่วนฉากผจญภัยในช่วงท้ายของหนังก็เดาได้จนรู้สึกว่าตื่นเต้นแบบธรรมดา

อุกกาบาตลูกใหญ่ที่พุ่งเข้าชนเกราะซึ่งห่อหุ้มยานอวาลอนเอาไว้ขณะเดินทาง มีบางส่วนของมันหลุดรอดเข้ามาได้เข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ระบบปฏิกรณ์ที่ยานใช้เป็นพลังงานในการเดินทาง ระบบคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องดึงพลังงานจากส่วนอื่นมาช่วยเพื่อให้ยานยังเสถียรอยู่ได้ แล้วหวยก็มาออกที่ตู้จำศีลของจิม (คริส แพรตต์) ที่ถูกดึงพลังงานไปใช้จนทำให้ระบบจำศีลขัดข้อง เขาตื่นขึ้นมาก่อน 90 ปีที่จะไปถึงโฮมสตีด ดาวอาณานิคมปลายทาง และทำให้เขาได้พบความจริงอันโหดร้ายว่าเขาจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังในยานลำนั้น และตายอยู่ในยานลำนั้น หมดโอกาสที่จะไปใช้ชีวิตในฝันในดวงดาวสวยงามอันไกลโพ้นเหมือนกับผู้โดยสารและลูกเรือคนอื่นๆ อีกหลายร้อยชีวิตที่ยังคงหลับอยู่ในยาน

หลังจากที่จิมตื่นขึ้นมา เขาทำสิ่งแรกของคนที่อยู่ในสถานการณ์ของเขาจะต้องทำก่อน นั่นก็คือหาทางให้ตัวเองได้กลับไปจำศีลต่อ ทั้งส่งข้อความขอความช่วยเหลือ พยายามปลุกกัปตันและลูกเรือ พยายามหาทางซ่อมตู้จำศีล แต่ไม่ว่าจะด้วยการใช้วิธีไหน ระบบต่างๆ ที่ซับซ้อนและมีการรักษาความปลอดภัยอย่างแข็งแกร่งของยาน (ยกเว้นการป้องกันกรณีชนกับอุกกาบาตลูกใหญ่) ทำให้จิมทำอะไรไม่ได้เลย

เมื่อพบว่าตัวเองจะต้องอยู่และตายอย่างเดียวดายคนเดียวในยานเป็นแน่แท้แล้ว จิมจึงเริ่มปลงและหันเข้าสู่ทางเลือกที่สองของการใช้ชีวิต นั่นก็คือจะอยู่อย่างไรโดยลำพังอย่างมีความสุข จิมจึงถลุงความหรูหราทุกอย่างในยานลำนั้น ทั้งกิน ดื่ม สำราญกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ชีวิตเหมือนสนุกในช่วงแรกๆ แต่การที่ต้องทำเช่นนั้นมาร่วมปีกว่าก็ทำให้เขาเหงาจนสิ้นหวัง ช่วงนี้ของหนังได้กลายเป็น Cast Away ฉบับอวกาศไปชั่วขณะ โดยจิมมีสภาพไม่ต่างจากทอม แฮงก์ ที่ติดเกาะ มีเพียงแอนดรอยด์ชื่ออาร์เธอร์ (ไมเคิล ชีน) ที่ทำหน้าที่เป็นบาร์เทนเดอร์เป็นเพื่อนคุยแก้เหงาไม่ต่างจากลูกวอลเล่ย์ แต่อาร์เธอร์ก็ไม่ใช่มนุษย์ที่จะเป็นความหวังในการมีชีวิตให้จิมได้จนเขาอยากฆ่าตัวตาย แต่การได้พบออโรร่า (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) โดยบังเอิญในวันที่พยายามจะฆ่าตัวตายนั้น ก็ทำให้จิมเหมือนได้ค้นพบแสงเรืองรองอันงดงามท่ามกลางความมืดและความหนาวเหน็บ

จิมเริ่มเปลี่ยนจากคนเหงาธรรมดา กลายมาเป็นเหมือนคนโรคจิต เขาเริ่มหมกมุ่นกับออโรร่าที่อยู่ในสภาพของเจ้าหญิงนิทรา ตามส่อง ตามสืบ ตามค้นทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตของเธอ ได้ค้นพบว่าเธอคือดอกฟ้าสูงศักดิ์ และเขาคือหมาวัด แต่แทนที่จะแอบดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เหมือนพวกโรคจิตตามส่องธรรมดา จิมได้ทำสิ่งที่ไม่ต่างจากพระราชาในเทพนิยายที่แอบข่มขืนเจ้าหญิงนิทราจนท้องขณะหลับ เขาได้แอบทำให้ตู้จำศีลของออโรร่าขัดข้อง ทำให้เธอฟื้นขึ้นมาใช้ชีวิตร่วมกับเขาบนยาน เป็นการแอบทำลายชีวิตและความฝันของออโรร่าเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง เป็นการทำให้ออโรร่าต้องมาติดคุกทั้งเป็นร่วมกับเขาอย่างเห็นแก่ตัว

การสร้างตัวละครนี้เองดูเหมือนเป็นจุดบอดสำคัญในงานเขียนบทของจอน สเปห์ส ตั้งแต่ใน Prometheus ที่สร้างให้ตัวละครนักวิทยาศาสตร์ที่น่าจะมีความเฉลียวฉลาด ความรู้จักคิดวิเคราะห์แบบในหนังนิยายไซไฟแบบฮาร์ดคอร์กลายเป็นตัวละครเกรียนๆ ทำอะไรโง่ๆ แบบในหนังสยองขวัญซ้ำซากทั่วไป ซึ่งใน Passengers เขาได้ทำให้ตัวละครจิมของคริส แพรตต์ แฝงไปด้วยความโรคจิตและเห็นแก่ตัวแบบที่เรามองเขาเป็นพระเอกแสนดีในหนังรักอีกไม่ได้เลย

ถ้าหนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนังรักได้ ความสัมพันธ์ของจิมกับออโรร่าควรเป็นเหมือนแจ็คกับโรสใน Titanic หรือริชาร์ดกับเอมิลีน ใน The Blue Lagoon หรือชายหนุ่มกับหญิงสาวใน “กวนมึนโฮ” อย่างโรคจิตเท่าที่จะเป็นได้ก็คือเด่นชัยกับนุ้ยใน “แฟนเดย์” แต่ไม่ใช่ด้วยความสัมพันธ์ของตัวละครแบบที่ทำให้เรานึกถึงเคธี เบตส์ กับ เจมส์ คานน์ ใน Misery หรือชารอน สโตน กับ วิลเลียม บอลด์วิน ใน Sliver แต่ถ้าอยากให้เชื่อว่าเกิดความรักท่ามกลางการหลอกลวงหักหลังและทำร้ายกันได้ ตัวละครทั้งคู่ก็ต้องมีความวิปริตมากกว่าความเป็นพระเอกและนางเอกในหนังรักทั่วไปแบบนี้ เพราะเมื่อออโรร่ารู้ความจริง เธอโกรธแค้นเขาราวกับแคทนิสโกรธแค้นประธานาธิบดีสโนว์ จนเชื่อได้ยากว่าเธอจะให้อภัยจิมได้ง่ายๆ แต่ก็พลิกกลับมาได้ง่ายเหมือนถูกกดปุ่มสั่ง เธอเองก็ควรมีความชอบที่ผิดปกติถึงจะกลับมารักเขาได้

นอกจากนี้ การนำเสนอความรักของสองตัวละครในช่วงที่ทั้งคู่รักกันก็ยังบางเบา ทั้งคู่แค่เพิ่งเริ่มเดทกัน ยังไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันแบบสามีภรรยาที่อยู่กันมานาน ยังไม่ได้ให้ความรู้สึกเชื่อได้ว่าทั้งคู่เป็นคู่รักกันจริงๆ ที่จะรักกันจนอภัยให้กันทุกอย่างได้

ไม่เพียงแค่ตัวบทและทิศทางของหนังที่ทำให้เราเชื่อในความรักของตัวละครไม่ได้แล้ว การแสดงของเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กับ คริส แพรตต์ ก็ดูเหมือนไม่ต่างจากมิสติกกับสตาร์-ลอร์ดมาติดเกาะอยู่ด้วยกันสองคนสักเท่าไหร่ ทั้งคู่ไม่ได้มีรังสีของความเป็นคู่รักออกมาเลยในยามที่เข้าฉากร่วมกัน ไม่ว่าจะยามจีบกันหรือในยามเข้าฉากเลิฟซีน ทั้งคู่เหมือนเพื่อนสนิทที่ถูกคอกันธรรมดา หรือเป็นเพื่อนแก้เหงายามที่ไร้คู่ ความโรแมนติกของการที่คู่รักฝ่าฟันอุปสรรค์ร่วมกันแบบแจ็คกับโรสจึงไม่เกิด และมันดูเหมือนยัดเยียดมากเมื่อออโรร่าเกิดกลับมารักจิมแบบ “ถ้าคุณตาย ฉันตายด้วย” เทียบไม่ได้กับความรู้สึกที่เรามีต่อฉากแคทนิสเสี่ยงตายเพื่อช่วยพีต้า

ผมเชื่อว่าความสามารถของสองนักแสดงนำมีมากกว่าที่ทั้งคู่เหมือนเล่นเป็นตัวเองแบบพอผ่านๆ ไปทีแบบที่เราเห็นในหนัง แต่ถ้าไม่เพราะ คริส แพรตต์ กับ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ทำการบ้านเพื่อเข้าถึงบทมาน้อยเกินไป ก็คงเพราะเล่นไปตามทิศทางที่ผู้กำกับมอร์เทน ทิลดัม วางไว้ว่าให้เล่นแบบบริหารเสน่ห์ความเป็นตัวเอง ขายความบันเทิงแบบผิวเผินมากกว่าการด่ำดิ่งลงไปในตัวละครที่น่าจะสร้างการแสดงที่ซับซ้อนและละเอียดได้ในระดับที่ผู้ชมจะเชื่อในตัวละคร มันเหมือนกับว่าหนังพอใจแค่จะขายพลังดาราของทั้งคู่ก็พอแล้ว ไม่ต้องให้เราอินไปกับตัวละครก็ได้ และก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่านั่นเป็นข้อดีในไม่กี่อย่างที่ช่วยประคับประคองให้เราไม่ต้องจำศีลขณะชมอยู่เหมือนกัน แม้ว่าทั้งคู่จะไม่เหมือนคู่รัก การรับส่งที่เป็นธรรมชาติและเข้าขากันแบบเพื่อนสนิทก็ทำให้น่าติดตาม คริส แพรตต์มีเสน่ห์ในบทบาทตลก แม้ว่าความตลกนั้นจะไม่รองรับจุดประสงค์ของหนังและผิดวิสัยของตัวละครที่ควรเป็น แต่มันก็ทำให้เราได้หัวเราะดีๆ หลายฉาก เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์เองก็มีพลังดึงดูดด้านการแสดง เธอทำหน้าที่ได้ดีเท่าที่บทจะมีให้แม้ว่ามันจะขาดเหตุผลรองรับที่ดี

งานสร้างและงานออกแบบของหนังเองก็เป็นอีกข้อดีทำให้เราเพลิดเพลิน มันทั้งหรูหรา งดงาม เต็มไปด้วยจินตนาการ และน่าพิศวงจนเราอยากได้มีโอกาสได้โดยสารยานลำนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำที่มีหน้าต่างกระจกขนาดใหญ่มองเห็นดวงดาวในอวกาศ หุ่นยนต์อำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีต่างๆ ของโลกอนาคต แม้ว่ามันจะเป็นแค่ส่วนปลีกย่อยของหนัง ไม่ใช่ส่วนที่เป็นแกนหลักจริงๆ

เมื่อหนังเข้าสู่องก์สาม ก็มีตัวละครใหม่โผล่ขึ้นมาอีกตัวที่เกิดจากระบบจำศีลขัดข้องแบบเดียวกับจิม เป็นตอนที่หายนะในยานเริ่มรุนแรงขึ้น ระบบเริ่มพังมากขึ้น ตัวละครนั้นก็คือกัปตันของยานอวาลอนที่รับบทโดยลอว์เรนช์ ฟิชเบิร์น ที่ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่ายานอวาลอนอาจกำลังเดินทางไปนรกภูมิแบบยานใน Event Horizon เมื่อรวมกับบรรยากาศของบาร์ที่เหมือนใน The Shinning ตอนนั้นเองที่เริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า ผู้กำกับทิลดัมดูเหมือนจะหมกมุ่นกับการใส่ลูกเล่นพิเศษ หรือกิมมิค ที่ชวนให้เรานึกถึงหนังหายนะหรือหนังสยองขวัญหลายเรื่อง อันเป็นส่วนปลีกย่อยมากกว่าการตั้งใจเล่าเรื่องหนังรักผจญภัยเรื่องหนึ่งให้ไปถึงจุดหมายจริงๆ

6.5/10

 

 

Passengers คู่โดยสารพันล้านไมล์

ผู้กำกับ: ทิลดัม

ผู้เขียนบท: จอน สแปห์ส

นักแสดง: เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, คริส แพรตต์, ไมเคิล ชีน, ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น และ แอนดี้ กราเซีย

ความยาว: 1.56 ชั่วโมง

เรตอายุผู้ชม: PG-13

1 ความเห็น »

  1. หนังพอดูได้ขำๆ คับ ทุกอย่างที่หนังพยายามให้คนดูลุ้น มันมีหมดแล้วในหนังตัวอย่าง เช่น จะปลุกนางเอกมั้ย มันทำให้ครึ่งแรกน่าเบื่อมากๆ ส่วนครึ่งหลังก้อเปนส่วนที่ไม่น่าจดจำ

    สปอยล์นะคับ

    -ออโรร่าไม่น่าจะกลับมารักจิมได้ กับสิ่งที่จิมทำ
    -ออโรร่าไม่น่าจะตัดสินใจที่จะอยู่ต่อ น่าจะเข้าจำศีล
    -ฉากแอ็คชั่นตอนจบ เหมือนหนังเรื่องอื่นๆไม่มีความลุ้น
    -ถ้าจิมตาย หนังน่าจะดีกว่านี้นะครับ

    สรุป ข้อดีคืองานสร้าง และ สตาร์ลอร์ด + แคทนิส เท่านั้นครับ 6/10

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.