สัมภาษณ์ 3 ผู้กำกับ “เพื่อนขีดเส้นใต้” จากนักทำหนังรุ่นนักศึกษาสู่ผู้กำกับมืออาชีพ

Friens underline directorsภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ (เจแปน), วรเทพ ธรรมโอรส (กระตั้ว), อรรถวิศิษฐ์ หัสดินทร ณ อยุธยา (ปั๊บ) คือ 3 ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมาจากคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาหมาดๆ ราว 6 เดือน และก็ได้มีผลงานภาพยนตร์ฉายลงโรงเป็นครั้งแรกด้วย “เพื่อนขีดเส้นใต้” ที่เข้าฉายแล้วแบบจำกัดโรงสุดสัปดาห์นี้ครับ เป็นโครงการหนังที่พวกเขาเริ่มลงมือกันตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ในนามของบุฟเฟ่ โปรดักชั่น ที่พวกเขาร่วมก่อตั้งกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาปี 1 เราได้ไปพูดคุยกับพวกเขาระหว่างทำงานขั้นตอนหลังการถ่ายทำที่แล็บ g2g ที่อยู่ริมถนนวิภาวดี ตั้งแต่ก่อนหนังออกฉาย เพื่อให้พวกเขาได้แนะนำโครงการหนังเรื่องแรกนี้แก่ผู้ชมก่อนตัดสินใจไปดูหนัง

ตามที่ผู้กำกับวรเทพเล่า “เพื่อนขีดเส้นใต้” เป็นโครงการหนังวิทยานิพนธ์ที่ทำส่งอาจารย์มาก่อนครับ “พอทำปุ๊บ เราก็ไม่อยากทำหนังให้เป็นแค่หนังส่งอาจารย์ เราจึงทำออกมาเต็มที่ หานายทุน หาสปอนเซอร์ทุกๆ อย่าง จนกระทั่งทำออกมาเป็นก๊อปปี้เอเสร็จแล้วก็มาเจอพี่ๆ ที่แฮนด์เมดฯ ให้โอกาส

การให้โอกาสของแฮนด์เมด ดิสทริบิวชั่น ในที่นี้ก็คือการช่วยจัดจำหน่ายให้หนังเรื่องนี้ หลังจากที่ทั้งสามทำหนังออกมาเสร็จแล้ว

ผู้กำกับภาณุพรรณขยายความเพิ่มเติมต่อถึงที่มาของหนัง “หนังเรื่องนี้จะแบ่งเป็น 3 พาร์ท ซึ่งพาร์ทแรก (รักเต็มปอด) เราทำมาตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นปี 4 แล้วทีนี้เราก็มองเห็นว่า เฮ้ย พอเราทำเรื่องแรก เราคิดว่าเราเต็มที่แล้ว มันดีแล้วทุกอย่าง มีคุณภาพทั้งภาพและเสียง เราจึงไม่อยากปล่อยให้เป็นแค่หนังตอนเดียวแล้วก็จบไปเป็นแค่หนังสั้น เราเลยพยายามที่จะต่อยอด เราก็เลยผูกเรื่อง สร้างเรื่องให้มันมาสอดคล้องกับเรื่องแรก ก็คือจะมาเป็นเรื่องที่สองก็คือ เดอะ ธีซีส ก็คือหนังของกระตั้ว เราเองเราก็มองว่า ปีสี่ เราก็คงอยากทิ้งอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง หรือเราอยากทำตามความฝันของเราก็คือ เราอยากให้หนังธีซีสของนักศึกษาเนี่ย มันไปฉายในโรง ให้คนทั่วไปได้ดู เราเองก็เลยปั้นอีกสองเรื่องขึ้นมา

(อ่านต่อด้านใน)

เรื่องราวย่อๆ ของรักเต็มปอดที่เป็นตอนแรก เกี่ยวข้องกับสามีภรรยา (รับบทโดย สตาร์บัค-พงศ์พิชญ์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล และ ใบเตย-สุวพิชญ์ ไตรพรวรกิจ) ที่ต้องการจะมีลูก และสร้างครอบครัว แต่ฝ่ายผู้หญิงต้องการความมั่นคง ความมั่นใจ อยากให้สามีเลิกบุหรี่ ให้ตัวเองได้ท้องสมบูรณ์และมั่นใจในการมีลูก แต่ว่าผู้ชายไม่ยอม จึงเกิดเรื่องแง่งอนของสามีภรรยาคู่นี้ เป็นเรื่องราวออกในแนวโรแมนติกปนตลก ซึ่งผู้กำกับภาณุพรรณบอกว่าผู้ชมจะได้แง่มุมทั้งจากผู้ชายและผู้หญิงเกี่ยวกับเรื่องนี้ “เราอยากที่จะทำอะไรให้มันจรรโลงสังคมนิดนึง รณรงค์เกี่ยวกับบุหรี่ มันมีท็อปปิกว่าอยากมีลูก บุหรี่จะมีผลอะไรไหม ช่วงนั้นมีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราเลยเห็นว่าเอาเรื่องนี้มาเล่นดีกว่า ถ้าครอบครัวหนึ่งอยากจะมีลูก มันจะมีปัญหาทางครอบครัวไหมถ้าไม่ลงรอยกันเรื่องนี้ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่สามารถเป็นเรื่องใหญ่ได้” ภาณุพรรณเล่าถึงที่มา

ซึ่งทั้งสองเรื่องที่ว่าก็เริ่มต้นเขียนบทกันตอนเรียนปี 4 เลย โดยใช้เวลาเขียนบทสองเรื่องหลังไปด้วยกัน ซึ่ง “ธีซีส” ที่เป็นตอนที่ 2 ของหนังที่กำกับโดยวรเทพ ก็ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของพวกเขาทั้งสามนั่นเอง ที่เล่นกันเอง กำกับกันเองด้วย “เป็นเรื่องจริงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ได้ แล้วเราก็เอามาดัดแปลงๆ ให้เป็นภาพยนตร์ขึ้นมา แน่นอนแหละว่า จะเอานักแสดงมาก็ยังไงอยู่ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เล่นกันเองเลยแล้วกัน ผมก็กำกับเอง เล่นนำเอง เจแปนก็เล่นนำ ปั๊บก็เล่นนำ ทีมงานจริงๆ ก็มาเล่นกันจริงๆ เราจะไม่ใช้คนนอกเลย แต่ก็จะมีพี่หอยมาช่วยคนหนึ่ง รับบทเป็นโปรดิวเซอร์” และวรเทพก็เล่าด้วยว่ากำกับเพื่อนไม่ง่ายเลย แต่อารมณ์และโทนของหนังทำให้ต้องเลือกเพื่อนมาแสดง “เพราะหนังเรื่องนี้อีก 10 ปี 20 ปี มันจะมีคุณค่ามากกว่านี้” และบทหนังก็เขียนมาเพื่อเพื่อนเหล่านี้แสดงเท่านั้น เป็นตัวของพวกเขาเอง

เรื่องจริงที่เป็นแรงบันดาลใจของตอน “ธีซีส” มาจากเหตุการณ์ทะเลาะกันจริงๆ ของพวกเขา “ผมกับปั๊บทะเลาะกัน ผมอยากทำหนังใหญ่เข้าโรงฉายตั้งแต่ตอนปี 2-3 แล้ว และปั๊บอยากทำหนังนอกกระแส ไอ้สองคนนี้จากที่เป็นเพื่อนรักกัน กลายเป้นว่า ทำไมมึงไม่ยอมกูๆ กลายเป็นว่าสองคนนี้แตกคอกัน และแบ่งกลุ่มทั้งกลุ่มเป็นสองฝั่ง แล้วเกิดการไล่ล่ากัน สุดท้าย มันจะพูดถึงมิตรภาพของเพื่อนแท้ครับผม

ขณะที่ตอนที่ 3 “1408” มาจากความสนใจส่วนตัวของผู้กำกับอรรถวิศิษฐ์เกี่ยวกับเรื่องทหารและสงคราม “ผมเป็นคนชอบศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์สงคราม หรืออัพเดทเรื่องกองทัพอยู่แล้วว่าตอนนี้เขามีอะไร เขาทำอะไร เขาคิดอะไรอยู่ เขาทำกันยังไง ก็พอดีได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งในชั้นหนึ่งสือ ชื่อว่า “27 วัน ควันปืนกับซากศพ สมรภูมิร่มเกล้า” เรื่องนี้ผมอ่านมานาน เกือบปีแล้ว ก็เลยคุยกับตั้ว ตั้วเองก็อยากผูกเรื่องด้วยเรื่องราวอะไรที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เราก็เลยเลือกเรื่องนี้มาเล่า หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ปึ๊บ เราก็เอามาดัดแปลง แล้วก็อ่านหนังสือเพิ่มเติมของสามผู้แต่ง ที่เป็นทหารพราน เคยไปรบมาล้วนๆ เลย 7-8 เล่ม เพื่อหาดูว่าพวกเขาคิดยังไง พวกเขาทำอะไรกันอยู่ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปมาใกล้เคียงกัน” ผู้กำกับอรรถวิศิษฐ์เล่าต่อ

ในแง่การเลือกนักแสดง อรรถวิศิษฐ์เล่าว่าอยู่ดีๆ ก็มาเจอคุณสายเชียร์ ซึ่งอยู่ดีๆ เขาก็นึกถึงขึ้นมา “ถ้าถามว่าทำไมเลือกพี่สายเชียร์ ผมว่าแบล็คกราวด์ของพี่สายเชียร์ค่อนข้างละม้ายคล้ายทหารพรานส่วนใหญ่ที่เขามาเป็น ก็คือเป็นคนอีสาน และก็ไม่ค่อยมีเงินมากนัก ปากกัดตีนถีบ อยากขยับตัวเองเข้ามาหางาน และโหงวเฮ้งของพี่เขาก็ทหารพรานมากๆ เลย วันนี้รอบเทสต์ เราเชิญทหารพรานมาชมกัน และคนข้างนอกมาชมกัน คำแรกที่เปิดตัวพี่สายเชียร์ เห็นคัตแรกของพี่สายเชียร์ ทหารพรานหัวเราะเลย เนี่ยโคตรเหมือน พูดออกมากลางโรงเลย

ส่วนอีกคนก็คือพลทหารเปี๊ยก รับบทโดยณัฐพงษ์ รัตนเมธานนท์ เป็นนักแสดงที่เรียนด้านการแสดงมาโดยตรง ตัวละคร “เป็นคนมาดกวนๆ เราคัดหลายคนมาก จนมาเจอพี่เขา เพราะมันเป็นคาแรคเตอร์ของพลทหาร ที่ถูกบังคับมารบ และขี้กลัว ขี้ปอด แต่ปากดีไว้ก่อน โชว์ปากเก่งไว้ก่อน พอเอาเข้าจริง กลัว วิ่งเป็นคนแรก ซึ่งพี่เขาเล่นได้ดีมาก

1408” เป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงของทหารพรานจู่โจมค่ายปักธงชัยนายหนึ่งที่หลงทางมาเจอกับพลทหารช่างนายหนึ่ง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออีกคนจะรบ อีกคนจะหนี สองคนนี้ก็เลยเกิดเรื่องราวรบๆ หนีๆ ในระหว่างเส้นทางเดินทางแล้วลงเอยด้วยการเป็นเพื่อนตาย “ในวันรอบเทสต์ ทหารมามาดูจบ เขาพูดอยู่คำหนึ่ง เพื่อน ประกอบด้วยคำสามคำคือ พ.อ.น. พ.คือพึ่งพา อ.คือเอื้ออาทร น.คือน้ำใจ นี่เป็นสิ่งที่ผมถามทหารพรานทุกคน เขาตอบเหมือนกันหมด

ในการเตรียมงานและเขียนบท อรรถวิศิษฐ์ซึ่งแม้เกิดไม่ทันสมัยเหตุการณ์สมรภูมิร่มเกล้า ได้ทำการค้นคว้าอย่างดี ทั้งจากปรึกษาทหารจริงๆ แฟนพันธุ์แท้สงครามเวียดนาม รวมถึงประภาส รวมรส ผู้แต่ง “27 วัน ควันปืนกับซากศพ” ซึ่งปัจจุบันเป็นปลัดอำเภออยู่ที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

อรรถวิศิษฐ์ทิ้งท้ายถึงหนังของเขาว่า “ทหารพรานตอนนี้ไม่มีคนรู้จักเลย ถูกทอดทิ้ง บางคนก็เป็นบ้า บางคนก็ไม่มีที่อยู่ ที่ทำหนังเรื่องนี้มาก็เพราะยังงี้ครับ” และพูดแทนผู้กำกับอีกคนด้วยว่า “อย่าเพิ่งมองว่าเราเป็นหนังฟอร์มเล็ก แค่เราไม่มีดาราระดับประเทศมาเล่น แต่ที่เราเลือกมาก็ตอบโจทย์เรื่องที่เราเล่าได้

เพราะเราก็ทำเต็มที่ทุกขบวนการจนถึงขั้นฉายเลยล่ะ ก็หวังว่า จะให้การตอบรับเป็นอยางดี 12 กุมภาพันธ์นี้ครับ เพื่อนขีดเส้นใต้ บางโรงภาพยนตร์ครับ” ภาณุพรรณเสริม

ทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน และผู้กำกับทั้งสามก็อยากให้ผู้ชมไปชมกันครับว่าทั้งสามเรื่องมาต่อกันได้ยังไง

Leave a Reply