แก้ข่าว: “ผมคงไม่มีวันพูดว่าหนังของคนอื่นไม่ใช่หนังจริงๆ” โนแลนปฏิเสธตำหนิฉากท้ายเครดิต

nolan snyderแก้ข่าว

หลังจากบทความของ The Gurdian ตีพิมพ์ออกไป เรื่องคำสัมภาษณ์ของแซ็ค สไนเดอร์ ที่บอกว่าคริสโตเฟอร์ โนแลน บอกผู้บริหารของวอร์เนอร์ฯ ที่อยากให้ใส่ฉากท้ายเครดิตว่า “หนังจริงๆ จะไม่ทำแบบนั้น” และทำให้เกิดคำพูดไม่พอใจตามมาในเว็บข่าวที่อื่นไปทั่ว โนแลนได้ยื่นจดหมายแถลงถึง Buzzfeed ปฏิเสธคำกล่าวดังกล่าวครับ

ผมคงไม่มีวันพูดว่าหนังของคนอื่นไม่ใช่หนังจริงๆ การยกคำอ้างนั้นมาไม่ถูกต้อง” โนแลนบอก และบอกเป็นนัยว่าบทความให้ข้อมูลที่ผิด

The Guardian ยังไม่มีความเห็นอะไรต่อการแถลงของโนแลนเป็นการขัดแย้ง และยังไม่ได้ลบคำกล่าวดังกล่าวออกจากบทความ แต่มีการใส่เชิงอรรถเข้าไปเพิ่มเติมว่า “เพิ่มเติมหลังจากการตีพิมพ์: โนแลนโต้เถียงว่าไม่ได้พูดตามที่สไนเดอร์อ้างว่าเขากล่าว ตามคำพูดของโนแลนแล้ว เขาบอกสไนเดอร์ว่า “เราไม่ควรไล่ทำตามหนังเรื่องอื่น แต่ให้ซื่อตรงต่อโทนของ Man of Steel

****************************************************************

นี่อาจเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดดราม่าตามมา แต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และอยากรู้เหมือนกันว่าผู้อ่านจะคิดยังไงกันบ้าง จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแค่ไหน เพียงแต่ขอให้แสดงความเห็นกันอย่างสุภาพและใช้อารมณ์ให้น้อยลงหน่อยแล้วกันนะครับ

เรื่องของเรื่องก็มาจากบทความบทความ Christopher Nolan: The Man Who Rebooted the Blockbuster หรือ “คริสโตเฟอร์ โนแลน: ชายผู้ยกเครื่องใหม่ให้หนังฮิตระเบิด” ของ The Guardian ที่เป็นบทความเชิงประวัติผลงานของโนแลนครับ มีการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยร่วมงานกับโนแลนเพื่อให้เล่าถึงวิธีการทำงานของเขาในผลงานที่ผ่านมา

ในย่อหน้าหนึ่งของบทความ (เข้าใจว่าเป็นการบอกเล่าจากผู้บริหารของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส สักคน) ที่เล่าถึงช่วงการทำงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างหนัง Man of Steel ซึ่งอนุมัติให้แซ็ค สไนเดอร์ มารับหน้าที่กำกับ

เขา(โนแลน)สังเกตเห็นบางอย่างที่น่าสนใจในการตอบรับของค่ายหนังต่อ Batman Begins ที่เขาตั้งใจให้ขนาดของหนังออกมาดูใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยสถานที่ถ่ายทำที่ไกลสุดกู่ถึงหิมาลัยและฉากไคลแม็กซ์ที่เกี่ยวข้องกับการระเบิดก็อทแธม แม้ว่าจะใหญ่ขนาดนี้ เขาก็ยังได้ยินคำพูดว่า “มันใหญ่พอไหม” เขาก็ได้ตระหนักว่าขนาดในภาพยนตร์เป็นมายา ดังนั้นในภาคต่อ The Dark Knight เขาจึงย่อขนาดของภาพยนตร์ลงจากภาคแรก ให้หนังมีฉากทั้งหมดเกิดขึ้นในก็อทแธมอย่างเดียว ซึ่งเขาเปิดฉากเรื่องด้วยการเล่าเรื่องและการกำกับภาพที่มีต้นแบบจาก Heat ของไมเคิล มานน์ ซึ่งมีฉากอยู่ในลอสแอนเจลีส แต่ถ่ายออกมาให้ดูเหมือนเต็มไปด้วยภูเขามากแบบตะวันตกแดนเถื่อน หนังของโนแลนเรื่องนี้ทำรายได้เกินพันล้านเหรียญ “หนัง Batman การใช้ทิศทางแบบนั้น ใช้โทนแบบนั้น ออกมาแบบไม่ให้ตั้งตัว” ผู้กำกับแซ็ค สไนเดอร์ บอก ซึ่งพบโนแลนครั้งแรกบนเครื่องบินตอนที่มุ่งไปงานประชุมทางภาพยนตร์ในลาสเวกัส และได้มีโอกาสสร้าง ภาพยนตร์ที่มีโทนที่คล้ายกันในการยกเครื่องใหม่ให้ Superman นั่นก็คือ Man of Steel ซึ่งเขาได้ศึกษาตามที่โนแลนขอก็คือ ฟุตเตจทดลองจากทะเลทรายขาวในรัฐนิวเม็กซิโก (ฐานทดลองจรวด) เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกของวัตถุที่กระทำในความเร็วสูง เมื่อสตูดิโอขอให้สไนเดอร์ใส่ฉากท้ายเครดิตที่เป็นอารมณ์ขันในตอนจบเข้าไป ในรูปแบบของมาร์เวล โนแลนตอบกลับว่า “ภาพยนตร์จริงๆ จะไม่ทำแบบนั้น

โดยไม่ปกติแล้ว โนแลนเป็นเหมือนนักการทูตเวลาให้แสดงความเห็นบางอย่าง เขาจะไม่ซัดตรงๆ แต่คำพูดที่เขาพูดถึงฉากท้ายเครดิตตอนจบของมาร์เวล เป็นคำพูดนอกรอบ พูดในที่ปิดกับผู้บริหารของวอร์เนอร์ฯ แล้วถูกนำมาเปิดเผย แปลว่าถ้าเป็นที่ส่วนตัว เขาก็คงแสดงความเห็นตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ต่อฉากท้ายเครดิต แม้ว่าอาจจะยังต้องการการขยายความอยู่บ้างว่า “ภาพยนตร์จริงๆ จะไม่ทำแบบนั้น“ในที่นี้หมายความว่ายังไง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ นี่เองที่เป็นเหตุผลที่แฟนหนังจะไม่ได้ชมฉากท้ายเครดิตในหนัง Man of Steel หรืออาจใน Batman v Superman: Dawn of Justice หรือหนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องต่อๆ ไปของค่ายนี้ครับ

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ผมพบท่อนหนึ่งของบทความที่น่าสนใจเช่นกัน ในการพยายามจะนิยามลักษณะภาพยนตร์ของโนแลน และเพิ่งได้ความรู้เกี่ยวกับชื่อบริษัทของโนแลนด้วย

“ภาพยนตร์ทุกเรื่องของโนแลนพาเราไปไกลสุดเขตแดนกว่าทั่วไป ถ้าฮอลลีวู้ดพาผู้ชมหลีกหนีจากโลกความจริงได้มาอย่างยาวนาน ภาพยนตร์ของโนแลนพาไปได้ไกลกว่านั้น เขาให้โอกาสผู้ชมที่จะหลุดออกไปจากในหัวของตัวเอง ชื่อบริษัทโปรดักชั่นของโนแลน Syncopy เป็นคำที่มีนิยามว่าการสูญเสียภาวะรู้สำนึกชั่วคราวอันเนื่องมาจากการขาดอ๊อกซิเจนในสมอง และภาพยนตร์ของเขาทุกเรื่องค่อนข้างจะใช้รูปแบบของหนังนักสืบ หรือหนังโจรกรรม เพื่อสร้างความน่าทึ่งของการหักมุมหรือพลิกผันของการรับรู้”

Interstellar เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของโนแลน ที่จะพาเราออกไปไกลสุดเขตแดนแบบที่หนังที่ผ่านมาของเขายังไม่เคยพาไป จะเข้าฉายในบ้านเราสุดสัปดาห์นี้

22 comments

  1. มองในแง่นึง หนังทุกเรื่องก้อควรจะจบอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในฉากจบอยู่แล้ว ไม่ควรมีฉากแถมท้ายให้ดูเพราะเหมือนเรื่องราวยังไม่จบ

    แต่ในกรณีของมาร์เวล เค้าไม่ได้มองว่าหนังแต่ละเรื่องมันเป็นแค่หนังเรื่องเดียว มันเป็นส่วนนึงของแผนการหนังเรื่องต่อไปในอนาคต การใส่ฉากทำนองนี้เข้ามาก้อเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

    แล้วอีกอย่างนึงที่ปฏิเสธไม่ได้ดีซีนั้นวางแผนการในอนาคตตามมาร์เวลแบบเต็มๆ(เพราะมาร์เวลยูนิเวิร์สประสบความสำเร็จเราถึงได้เห็นดีซีออกมาวางแผนการรวมตัวของเหล่าฮีโร่บ้างอย่างทันควัน)

    ที่บอกว่าไม่สนใจทำฉากท้ายเอนเครดิต เพราะดีซีตั้งใจจะใส่ทุกอย่างลงไปในตัวหนังอยู่แล้ว (ดู BvS สิ ยัดตัวละครเข้ามาเยอะมาก) ดีซีคงไม่สนใจวางปมอะไรให้คนดูติดตามแบบทีละเล็กทีละน้อย เพราะเลือกใช้ทางลัดแนะนำตัวละครในหนังแบบโต้งๆไปเลย

  2. ส่วนตัวคิดว่า หนังของโนแลนนั้นมุ่งที่จะถ่ายทอดประเด็นหรือแง่มุมที่ทำให้คนดู เมื่อดูจบแล้วต้องฉุกคิดหรือสามารถนำประเด็นนั้นๆไปต่อยอดตีความได้หลากหลายรูปแบบเป็นหนังแบบเปิดความคิดใหม่ๆ
    ในขณะที่ Marvel นั้นสร้างหนังที่ไม่ได้มีประเด็นรุนแรง เน้นสร้างเพื่อความบันเทิง ใช้เครดิตต่างๆเพื่อชักจูงคนดูให้หลงและติดกับดักทางการตลาดที่วางเอาไว้ เป็นเหมือนแผนดูดเงินในระยะยาวโดยที่มิได้ให้แง่คิดหรือมุมมองที่แต่ต่างไปจากเดิมเป็นเพียงหนังที่มีแต่ความบันเทิงแต่ไม่มีประโยชน์มานัก
    ผมคิดว่านั่นคงเป็นเหตุผลของโนแลนนะ
    แต่พูดกันตรงๆ เครดิตของ Marvel ก็สามารถสร้างสีสันให้กับหนังได้ดีนะ

  3. คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นผู้กำกับที่ผมชื่นชอบมากคนหนึ่งครับ และการที่เฮียแกพูดแบบนั้น มันก็ต้องมีเหตุผลที่ดีพอ ในมุมของเฮียเอง ผมว่ามุมมองและทัศนคติของเฮียที่มีต่อเรื่องต่างๆ น่าสนใจมากนะครับ หากผู้กำกับระดับพระกาฬขนาดนี้สร้างสรรค์ผลงานระดับสุดยอดขนาดนี้ พูดบางสิ่งออกมา มันน่าที่เราจะนั่งฟังอย่างตั้งใจ แล้วลองนำไปขบคิดดูครับ เพื่อจะได้แนวคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ในการนำมาปรับใช้กับผลงานของตนเองครับ

  4. โนแลนก็ไม่ได้พูดผิดนะครับ มันเป็นมุมมองการทำหนังของเขา ตัวโนแลนก็เป็น Perfectionist คนหนึ่งที่มีวิธีทำหนังที่ทุกๆต้องออกมาลงตัวในแบของภาพยนต์ พูดง่ายๆคือโนแลนไม่ใช่นักการตลาดอ่ะครับ เขาเป็นคนทำหนังที่คิดเฉพาะเรื่องหนังจริงๆ มันถึงทำให้เขามองว่า หนังจริงๆมันควรจะจบในตัวโดยไม่ต้องมีเครดิตอะไรพ่วงมาอีก

    แต่มาร์เวลทำหนังแบบ MCU หรือ Marvel Cinematic Universe ที่ทุกอย่างจะโยงเป็นจักรวาลเดียวกัน เป็นเหมือนสินค้าเมอร์แชนไดส์ที่ต้องดึงให้คนดูติดตามได้ทุกเรื่อง เป็นความบันเทิงในแง่การตลาดด้วยส่วนหนึ่ง …ซึ่งไม่ว่าจะ DC หรือ Marvel วิธีการทำหนังของแต่ละค่ายก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่ สรุปไม่มีใครพูดผิดหรือทำผิดหรอกครับ ทุกคนต่างมีหนทางการทำงานในแบบของตัวเอง

    (แต่ถึงโนแลนไม่ทำ ในอนาคตถ้า DC จะสร้างจักรวาลหนังขึ้นมา ยังไงมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้กลยุทธ์เล็กๆน้อยอย่างการใส่ฉากท้ายเครดิตลงไป อยู่ดีครับ …แต่มันไม่ใช่การเลียนแบบกันนะครับ แต่มันเป็นการสร้างจุดเชื่อมโยงให้หนังในจักรวาล แบบบังคับเลย ยังไงก็ต้องทำ …ซึ่งมันเป็นเรื่องของการตลาด แต่โนแลนเขาแค่พูดถึงในแง่ศิลปะภาพยนต์เฉยๆ)

  5. โนแลน เป็นนักคิดค้นนวัตกรรมครับ บางทีก็คงมีอารมณ์ต่อต้านนวัตกรรมที่ตนไม่ได้คิดเป็นธรรมดา

  6. ผมเข้าใจโนแลน เขาพูดถึงจิตวิญญาณของการสร้างหนัง มันจะถูกทำลายด้วยการตลาดทางภาพยนต์นั้นเองไงครับ ทุกครั้งที่ดูหนังของมาร์เวลจบ ผมกลับมองไม่เห็นเสน่ห์ของหนังที่ทำให้เราประทับใจ เหมือนดูเอาแค่สนุก เหมือนมันจางหายไปกับแนวทางการตลาด การตลาดแบบนี้ คือ การทำลายจิตวิญญาณของหนัง จำเอาไว้

    • เพิ่งมารู้สึกตอนอ่านข่าวนี้รึเปล่าครับ หรือว่ารู้สึกตั้งแต่แรกแล้ว

      มันไม่เกี่ยวกับการทำทลายจิตวิญญาณของหนังไรเลยครับ หนังที่มีจิตวิญญาณต้องทำไงครับ ต้องเป็นสไตล์แบบโนแลนเท่านั้นรึเปล่า ???? เพราะที่คุณพูดมันก็เหมารวมหนังเรื่องอื่นๆ ด้วย

      หนังเขาทำมาให้คนดูสนุก บันเทิงไปกับมันครับ ทุกๆ เรื่องนั่นแหละ และมาร์เวลเป็นสไตล์บันเทิง ไม่หนักสมอง เน้นดูกันได้ทุกวัย ดูกันเป็นครอบครัว มีฉากเอนด์เครดิตไว้เพื่อเชื่อมจักรวาลของแต่ละเรื่อง ส่วนของโนแลนก็หนักสมอง ได้ข้อคิด ปรัชญาไป ดูยากนิดนึง จบในตอน

      สไตล์ใครสไตล์มันครับ

      และอีกนิดนึง คนที่บอกว่า เป็นแค่มุมมองของโนแลน ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะหมายถึงหนังของเขาเท่านั้น แต่ประโยคที่เขาพูด “ภาพยนตร์จริงๆ จะไม่ทำแบบนั้น” เฮียแกพูดเหมารวมเลยมากกว่านะ ลองอ่านดีๆ

      • แล้วทำไมภาพยนตร์จริงๆ ถึงจะทำไม่ได้ล่ะ เหมือนกับจะพูดว่าต้องต้องติดอยู่แต่ในกรอบเลยนะ
        ต้องรอให้คนอื่นเค้าฉีกกฎเกณฑ์ ออกนอกกรอบ จนเป็นทิศทางใหม่ของคำว่าภาพยนตร์งั้นหรือ
        ภาพยนตร์ กับการตลาด และธุรกิจ มันก็เป็นของที่ควบคู่กันไปนี่นา
        สิ่งที่มาร์เวลทำ จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แถมยังทิ้งรอยเท้าให้อีกฝ่ายก้าวตามต้อยๆ ในแนวทางของตัวเองอีกตังหาก

  7. ผมเห็นด้วยกับคุณ LKPPนะ

    เพิ่มเติม:
    ส่วนตัวตอนแรกที่ดู Batman Begins ผมก็เฉยๆนะครับ มาชอบหนังของโนแลนก็ Dark Knight กับ Inception DKR ก็ไม่ได้ชอบมากเท่าไหร่ ซึ่งเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของโนแลนว่า ตอนแรกเขาไม่ได้คิดจะทำแบทแมนภาคต่อเลย…. นั่นทำให้ผมคิดว่าโนแลนเขาเป็นคนที่ชอบสร้างหนังให้มันจบในภาคเดียว ในตัวเดียว และนั่นก็เป็นแบบฉบับของเขา และโทนหนังแบบโนแลนก็ไม่เหมาะที่จะทำฉากท้ายเครดิตด้วย ที่เขากล่าวเกี่ยวกับend credits ว่า “ภาพยนตร์จริงๆ จะไม่ทำแบบนั้น“ อาจฟังดูแรง ตรงๆ แต่ผมว่ามันก็แค่ความเห็นของคนทำหนังในมุมมองหนึ่ง

    ในทางตรงกันข้ามหนังของมาร์เวล ตั้งแต่ที่ผมดูมา ในตัวหนังแต่ละเรื่องมันให้อารมณ์เหมือนอ่านคอมมิคส์ที่ถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ ที่สำคัญฉากทิ้งท้ายนั่น เป็นการแสดงถึงความต่อเนื่องและความสัมพันธ์ ของ MCU เพื่อให้ผู้ชมรู้ว่าเรื่องเหล่านี้อยู่ในโลกในจักรวาลเดียวกัน เนื่องจากเขาวางโครงสร้างของหนังที่สร้างไว้ใหญ่มาก ไม่ได้จบในทีเดียว เพราะฉะนั้นการทำฉากท้ายเครดิตก็เหมาะกับค่ายมาร์เวลดี

  8. บทความนี้แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งครับ นั่นคือชั่วโมงนี้วอร์เนอร์ไม่กล้าหืออะไรกับโนแลนเลย ความจริงหนัง man of steel มันก็ไม่ใช่หนังของโนแลนซักหน่อย การที่สตูดิโออยากจะเพิ่มอะไรเข้าไป เป็นเป็นหน้าที่ผู้กำกับต่างหากที่ต้องพิจารณา แต่กลับถอยดีฝ่าเอาดื้อ ๆ เพราะเจอความเห็นโนแลนทีเดียว

    สรุปคือผมว่าตอนนี้วอร์เนอร์ให้ความสำคัญกับโนแลนมากเกินไปหน่อยไหม แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป หาก Interstellar ออกมาไม่เปรี้ยงอย่างที่คิด (กล้าชนกับการ์ตูนดีสนี่ย์นี่เสี่ยงสุด ๆ) หรืออาจหนังถึงขั้นเป็นเจ๊งเรื่องแรกของโนแลน

  9. ก็เป็นสไตล์ของแต่ละคนครับ ใช่ว่าโนแลนบอกว่าไม่ใส่ ทุกเรื่องจะต้องไม่ใส่ แต่หนังโนแลนผมว่ามันก็ไม่ควรจะมีท้ายเครดิต อย่าง Inception นี่ถ้ามีท้ายเครดิตผมจะโกรธมากเลยนะ

  10. ผมก็ว่างั้น หนังของมาเวลมันไม่ใช่ “cinema” แต่เป็น “live-action comic” ส่วนเรื่องธุรกิจไม่ต้องพูดถึงเพราะหนังมันคือสินค้า แต่หนังของ Nolan ยังเป็น cinema ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องอย่าง IMAX ก็ดีหรือการเซ็ตฉากจริงๆก็ดี ถ้านึกถึงฉากนึงในอเวนเจอร์ที่กล้องวื่งตามถ่ายตัวละครแต่ละตัวในเมืองมันแทบจะเป็นการ์ตูนเลยน่ะ

  11. หนังของโนแลน ก้อคือ ปรัชญา-วิทยาศาสตร์ มันดูจริงจัง และเข้มข้น มันไม่ได่ แมสอย่างจงใจ และเหมือนกับหลายๆความเหน โนแลนจะเคลียร์หนังเขาเอง มันจบได่ทันทีีและ syncopy จริงๆ แบบนั้น และหากหนังของโนแลน จะเจ๊ง มันคงไม่แปลก เพราะคนที่ดูหนังเปนจริงๆ มีน้อยครับ และใครที่คิดว่า กล้าชนกับ ดิสนี่ย์ นี่ ตัวหนังบอกอยู่แล้วครับว่า ยาวเกือบ 2 ช.ม. มันไม่ใช่หนังเดก ครับ. ไม่ได่ชน และผมไม่ต้องคิดเลยว่าจะดูเรื่องไหนก่อน ถ้าชนในบ้านเรา

  12. ผมว่าหลายๆคนตีความคำพูดของโนแลนผิดนะ คือพอโนแลนออกมาพูดแค่ประโยคเดียว
    ก็พร้อมใจกันโจมตีมาร์เวลหมดเลย …เออ แปลกดี 555555555555555555555555+

    โนแลนไม่ได้คิดจะเจาะจงด่ามาร์เวลหรอกครับ แต่เขาคิดในมุมมองของเขา ว่าศิลปะภาพยนต์
    มันควรจะเป็นอย่างไร …อย่างที่บอกว่าโนแลนเป็นพวก Old School Boy ที่คิดเรื่องการตลาด
    น้อยมาก ใส่ใจเฉพาะงานสร้างเท่านั้น ขนาดขนถึงบัดนี้โนแลนยังถ่ายหนังด้วยฟิล์มอยู่เลย เพราะ
    ความเป็นคน “เนิร์ดนิดๆ” ของโนแลนนี่แหละ (โนแลนบ้า เจมส์ บอนด์ นะครับ)

    หลักฐานตำตาก็คือ ตอนนี้ DC ตั้งใจจะรวมจักรวาลหนังจริงๆด้วย Dawn of Justice แล้ว
    ซึ่งโนแลนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอีก เพราะตัวเขาก็ยึดในแนวทางของเขาว่า “หากมีการใส่เครดิต
    ท้ายเรื่อง นั่นถือว่าไม่ใช่ภาพยนต์ที่แท้จริง” มันเป็นแค่การทำงานตามคติของตัวเองเท่านั้น
    เองครับ โนแลนไม่ได้ตั้งใจพูดเพื่อโจมตีใคร ฉะนั้นพวกเราคนดูก็อย่าหาเรื่องเอาคำพูดของ
    เขาไปใช้ด่าคนอื่นเลยครับ ^______^

  13. คนไทยคล้อยตามง่ายครับ มักคล้อยตามความเห็นที่ข่าวชี้นำขึ้นมา ถ้าลองข่าวบอกว่าโนแลนเห็นว่าการมี end credit เป็นสิ่งที่เค้าอยากทำ ความเห็นก็จะเป็นอีกแบบครับ

    ถ้าตามความเห็นผมคิดว่ามันเป็นแค่สไตล์ของผู้กำกับแต่ละคนครับ ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไร

Leave a Reply to Cancel reply