17 ข้อที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ Thor: The Dark World

Thor The Dark World boxofficeในปี 1962 แสตน ลีและแจ็ค เคอร์บี้ ได้แนะนำ “ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า” ให้ผู้อ่านมาร์เวล คอมิกส์ได้รู้จัก เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการ์ตูนแอ็กชันผจญภัยด้วยเรื่องราวเทพเจ้านอร์สผู้มีค้อนเป็นอาวุธของพวกเขา แม้ว่าชื่อต่างๆ จะเป็นแบบสแกนดิเนเวียน แต่เรื่องราวนี้ก็มีรากฐานบนความขัดแย้งที่เราคุ้นเคยกันดีและมีความเป็นสากล ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดดรามาของเหล่ามนุษย์ขึ้นนับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก นั่นคือลูกชายผู้รู้สึกอดรนทนไม่ไหวที่จะพิสูจน์ตัวเองกับบิดาของเขา น้องชายที่มีความโกรธขึ้งอย่างน่ากลัว และหญิงสาวผู้ทำให้ชายผู้นี้ได้มองเห็นโลกในมุมใหม่

หลังจากความสำเร็จระดับโลกของภาพยนตร์เรื่อง Thor ทีมผู้สร้างก็ล้วงลึกเข้าไปในคลังตำนานเทพปกรณัมนอร์สและประวัติศาสตร์ของการ์ตูนเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อสร้าง Thor: The Dark World ซึ่งได้หยิบยกธีมที่มีความเป็นสากลและเป็นที่คุ้นเคยมาใช้อีกครั้ง ด้วยการนำเอาหน้าที่และความภักดีต่อครอบครัวมาขัดแย้งกับความปรารถนาส่วนตัวและความรัก ในเรื่องนี้ โลกของเราต้องเผชิญกับศัตรูที่เราคิดว่าตายจากไปเนิ่นนานแล้ว แต่บัดนี้ ศัตรูผู้นั้นกลับกำลังคุกคามการดำรงอยู่ของจักรวาลใบนี้

ในการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องนี้มีเกร็ดสนุกๆ มากมาย และทางดิสนี่ย์ประเทศไทยก็ส่งมอบมาให้ทางเราช่วยเผยแพร่ต่อครับ เพื่อให้รับรู้ถึงเบื้องหลังงานสร้างว่ากว่าจะเห็นอย่างที่เราเห็นกันนั้น มีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง สรุปเป็น 17 ข้อได้ดังนี้ครับ

1. ใน Thor: The Dark World มีการพูดถึงดินแดนต่างๆ อีกเก้าแห่ง เพื่อให้เราได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์และความซับซ้อนในจักรวาลของธอร์ได้ดียิ่งขึ้น ดินแดนทั้งเก้านั้นถูกนำมาจากเทพปกรณัมนอร์สและอ้างถึงโลกทั้งเก้าที่ได้รับการค้ำจุนจาก อิกดราซิล ต้นแอชขนาดมหึมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนอร์ส แอสการ์ดถูกพูดถึงว่าอยู่บนสุด และโลก หรือมิดการ์ด จะอยู่ตรงกลาง ใน Thor ภาคแรก อิกดราซิลถูกพูดถึงว่าเป็นโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นจากรูหนอน ที่เชื่อมโยงโลก (ดินแดน) ทั้งเก้าเข้าไว้ด้วยกัน

2. ฉากเมดินา/ท้องถนนของดินแดนแอสการ์ดเป็นฉากที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างขึ้นสำหรับภาพยนตร์มาร์เวล เราสามารถเดินตามท้องถนนของดินแดนแอสการ์ดและเห็นร้านค้า ผับและสนามฝึกได้

3. ทีมงานกล้องจากอากาศบินไปน้ำตกเด็ตติฟอสในไอซ์แลนด์ (น้ำตกที่มีความแรงที่สุดในยุโรป) เพื่อถ่ายทำภาพน้ำที่ไหลลงมาจากทุกมุม เพื่อที่จะสามารถเรนเดอร์ภาพน้ำตกที่โอบล้อมแอสการ์ดได้อย่างสมจริง โดยให้คอมพิวเตอร์จำลองโลกใบนั้นขึ้นมา

4. การถ่ายทำในไอซ์แลนด์รวมถึงโลเกชันห่างไกล ที่ทีมงานจะต้องขับรถจากสนามบินนานหลายชั่วโมงกว่าจะถึงโรงแรมที่พัก จากนั้น เพื่อให้ได้ฉากของทุ่งขี้เถ้าภูเขาไฟ ที่ถูกใช้แทนเดอะ ดาร์ค เวิลด์ พวกเขาก็ต้องขับรถออกไปอีกสองชั่วโมง

5. หากมองใกล้ๆ ไปที่ของประดับตกแต่งฉากอพาร์ทเมนต์ที่ลอนดอนของเจน ฟอสเตอร์ เราจะเห็นโน้ตดนตรีบนเปียโนที่เขียนว่า “ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า

6. ภาพของเจน ฟอสเตอร์ตอนเด็กๆ ในฉากอพาร์ทเมนต์ได้มาจากแม่ของนาตาลี พอร์ตแมน ผู้เก็บรวบรวมแฟ้มที่เต็มไปด้วยภาพของนาตาลีในวัยต่างๆ สำหรับโอกาสแบบนี้

7. มีการสร้างค้อนที่มีน้ำหนักหลากหลายขึ้นมา 30 อันเพื่อให้ธอร์ใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน ค้อนหลักจะสร้างขึ้นจากอลูมิเนียม แต่มันก็จะถูกจำลองออกมาด้วยวัตถุดิบและน้ำหนักที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึง เวอร์ชันสตันท์ “นุ่มๆ” ด้วย

8. แบบดีไซน์ของโยเนียร์ ค้อนของธอร์ ถูกเปลี่ยนแปลงจากเวอร์ชันที่ธอร์ถือใน Marvel’s The Avengers โดยค้อนอันใหม่จะให้ความรู้สึกของประวัติศาสตร์เก่าแก่มากกว่า และด้ามจับก็จะใกล้เคียงกับค้อนที่ธอร์ใช้ใน Thor มากกว่า

9. ถ้อยคำที่สลักบนค้อนของธอร์ ซึ่งเป็นอัขระนอร์ส แปลได้ความว่า “ใครก็ตามที่ถือครองค้อนนี้ หากเขาผู้นั้นคู่ควร จะได้ครองพลังแห่งธอร์

10. แบร์รี กิ๊บส์ หัวหน้าฝ่ายอุปกรณ์ประกอบฉากและทีมงานช่างเทคนิค 18 ชีวิตของเขาได้ออกแบบ/สร้างอาวุธ 140 ชิ้นขึ้นภายใน 10 สัปดาห์ แล้วก็ต้องสร้างอาวุธแต่ละแบบขึ้นมาอีกสี่ชิ้น เพื่อให้ผู้รุกรานได้มีอาวุธใช้ทั้งหมด 516 ชิ้นในฉากสงคราม ซึ่งหลังจากนั้น เขาก็ต้องไปทำอาวุธหลักให้กับทั้งธอร์, โอดิน, โวลสแต็กก์, เฮมดัลล์, ซิฟ และ ฯลฯ อีก

11. ธอร์และโอดินต่างก็มีชุดอยู่แบบเดียว แต่ธอร์ก็ต้องใช้ชุดทั้งหมด 15 ชุดเพราะเขาแสดงฉากแอ็กชันและสตันท์มากมายหลายฉาก

12. เดวิด ไวท์ ผู้ออกแบบดาร์คเอลฟ์และเอฟเฟ็กต์ชิ้นส่วนเทียมใน Thor: The Dark World ได้ออกแบบและสร้างชุด 40 ชุดให้กับดาร์คเอลฟ์ โดยอาศัยช่างเทคนิค 100 ชีวิตตลอดระยะเวลากว่า 3 ½ เดือน ลุคที่แปลกประหลาดของพวกเขาได้มจากชาติพันธุ์ที่หลากหลายและองค์ประกอบจากชนเผ่าต่างๆ

13. ทีมสตันท์และตัวประกอบที่รับบทดาร์คเอลฟ์จะต้องผ่านช่วงเวลาฝึกที่พวกเขาจะต้องฝึกยืนตัวตรงอย่างสง่าผ่าเผยเพราะพวกดาร์คเอลฟ์ถูกวาดภาพเอาไว้ว่าจะต้องเป็นเผ่าพันธุ์ที่ทรงเกียรติ เดวิด ไวท์ ผู้ออกแบบชิ้นส่วนเทียม ได้มีส่วนช่วยด้วยการออกแบบหมวกเกราะเพื่อที่จะได้มีการดึงระดับสายตาลงเล็กน้อย ทำให้นักแสดงจะต้องเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย ซึ่งก็ทำให้พวกเขาให้ความรู้สึกของความหยิ่งทะนง และแข็งแกร่ง

14. ทั้งคริสโตเฟอร์ เอคเคิลสตันและอเดวาลเล แอคคินอย-อัคบาเจ ผู้รับบทดาร์คเอลฟ์ มาเลคิธและอัลกริม ตามลำดับ ต้องจดจำบทพูดของพวกเขาที่เขียนเป็นภาษาเอลฟ์ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

15. ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำระหว่างเดือนตุลาคมและเดือนธันวาคม ปี 2012 ที่เชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ในประเทศอังกฤษ โดยมีโลเกชันหลักอยู่ในลอนดอน ทั้งกรีนนิช, เวมบ์ลีย์, วิหารเซนต์ปอล, ตลาดโบโรห์และเฮย์ส รวมถึงป่าบอร์นในเซอร์รีย์และสโตนเฮนจ์ในวิทช์ไชร์ สำหรับลุคของ สวาร์ทาล์ฟเฮม โลกของดาร์คเอลฟ์ ทีมผู้สร้างได้เลือกใช้ไอซ์แลนด์เนื่องด้วยภูมิประเทศแบบภูเขาไฟที่ดำทะมึนของมัน

16. ก่อนหน้าที่จะส่งเฮลิคอปเตอร์ไปถ่ายทำกรีนนิชที่เก่าแก่ ในประเทศอังกฤษ ในเช้าวันอาทิตย์ที่เงียบสงบ ทีมงานฝ่ายโลเกชันได้หย่อนจดหมาย 4,000 ฉบับลงในบริเวณดังกล่าว โดย 2,000 ฉบับถูกหย่อนลงที่ฟากหนึ่งของแม่น้ำ และอีก 2,000 ฉบับที่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ เพื่ออธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

17. การถ่ายทำที่สโตนเฮนจ์ สถานที่โด่งดังทางประวัติศาสตร์ กลายเป็นเรื่องท้าทาย หลังจากได้รับอนุญาตจากอิงลิช แฮริเทจ ในท้ายที่สุด ทีมผู้สร้างก็พบว่าการถ่ายทำที่นั่นต้องมีกฎ ข้อบังคับมากมาย พวกเขาจะไปอยู่ใจกลางของเสาหินได้นอกเวลาท่องเที่ยวตามปกติเท่านั้น ดังนั้น การถ่ายทำก็จะต้องเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้าก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่จะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ทีมงานมีเวลาเพียงสามชั่วโมงก่อนที่พวกเขาจะต้องถอยห่างเพื่อถ่ายทำช็อตในมุมกว้าง เมื่อสถานที่แห่งนี้เปิดกว้างต้อนรับผู้มาเยือน ด้วยความที่มันเป็นสถานที่อนุรักษ์ ก็เลยไม่มีใครได้รับอนุญาตให้แตะต้องหินหรือเดินบนหินเหล่านั้น ดังนั้น จะต้องมีการใช้เรื่องของโลจิสติกมากมายเข้ามาช่วยในการถ่ายทำที่นั่น

8 comments

  1. อ่านเพลินดี

    เรื่อง ค้อน ที่ส่วนใหญ่มักชอบผิดบ่อยๆ เป็น ฆ้อน (ซึ่งจริงๆ ในพจนานุกรม หมวด ฆ มีแต่คำว่า ฆ้อง ที่ใกล้เคียงที่สุด)
    ผมอ้างอิงเว็บของราชบัณฑิตเป็นหลักครับ ^_^
    http://rirs3.royin.go.th/

    • เว็บนั้น ดึงข่าวมาจากหลายบล็อคและไม่ให้เครดิตเลยครับ เพื่อนที่โดนเหมือนกันต่อว่าเขาแล้วก็ทำเฉยครับ

      ขอลบลิงก์ออกนะครับ เพื่อใครจะได้ไม่ตามไปเว็บนั้น

    • แล้วแต่สำเนียงมั้งครับ ธีรศิลป์ แดงดา ไปเล่นบอลที่สเปน คนสเปนก็ไม่ได้เรียกเหมือนจริงเป๊ะๆ

      โยเนียร์ มจอลล์เนียร์ มโยเนียร์ มันก็หมายถึงค้อนของธอร์ทุกอันแหละ ก็แค่ออกเสียงต่าง

Leave a Reply to jediyuthCancel reply