World War Z: จากหน้ากระดาษสู่จอภาพยนตร์

WORLD WAR Zแบรด พิตต์ ห่างหายไปนานจากหนังพานิชย์ หรือหนังซัมเมอร์  และได้กลับมาอีกครั้งในหนังเขย่าขวัญซอมบี้ฟอร์มยักษ์ World War Z จากผู้กำกับมาร์ค ฟอร์สเตอร์ จาก The Kite Runner และ Quantum of Solace หนังดัดแปลงจากนิยายของแม็กซ์ บรู้ก ชื่อ World War Z: An Oral History of the Zombie War ซึ่งความยากในการดัดแปลงก็ทำให้ใช้เวลายาวนานพอสมควรกว่าจะสร้างเป็นหนังได้ หนังได้ฉายรอบพิเศษและฉายรอบปฐมทัศน์ไปแล้วในลอนดอนซึ่งคำวิจารณ์เบื้องต้นออกมาดีมาก แม้ว่าผู้ที่เคยอ่านฉบับนิยายจะบอกว่าหนังแตกต่างจากนิยายเยอะมากก็ตาม ซึ่งเราคงนำมาเล่าอีกทีในภายหลังครับ

และสำหรับในแง่การดัดแปลงจากนิยายเป็นหนังนั้น เราก็ได้รายละเอียดมาจากทางยูไอพีฯ ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในบ้านเรา ได้มอบข้อมูลส่วนนี้จากโปรดักชั่นโน้ตของหนังมาให้ บอกเล่าให้เรารู้ว่าฉบับนิยายนั้นสร้างความประทับใจอะไรให้ผู้สร้างจนถึงอยากเอามาเล่าเป็นภาพยนตร์ และพวกเขาต้องทำอย่างไรบ้างในการพยายามดัดแปลงจากนิยายให้ออกมาเป็นหนังแล้วน่าติดตามในแบบของหนัง รวมถึงความยากลำบากในการดัดแปลง และความหมายของซอมบี้หากเทียบเคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบันครับ ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวก่อนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

World War Z เริ่มต้นด้วยการเป็นนิยายสยองขวัญที่กล่าวถึงช่วงเวลาหลังโลกต้องพบหายนะ ผลงานของ แม็กซ์ บรูกส์ ที่มีชื่อว่า World War Z: An Oral History of the Zombie War ที่ถูกเขียนขึ้นในรูปแบบการเล่าเรื่องของบุคคลแต่ละคนที่ประสพกับเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง ผู้อำนวยการสร้าง แบรด พิตต์, ดีดี้ การ์ดเนอร์ และเจเรมี่ ไคลเนอร์ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในแท่นพิมพ์ พวกเขาและทุกคนที่บริษัท แพลนบี เอนเตอร์เทนเม้นต์ ต่างติดใจนิยายเรื่องนี้มาก

ห้าปีผ่านไป ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับซอมบี้เลย ตอนนี้ ผมกลับมองว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเลยครับ” พิตต์เล่า “หนังสือของแม็กซ์นำเสนอเรื่องราวของซอมบี้ว่าเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก เป็นการแพร่กระจายในแบบที่เหมือนเราเคยเห็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่าง ซาร์ส สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมันแพร่ระบาดไปเหมือนไฟลามทุ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยเห็นว่าสำคัญในชีวิตประจำวันของเรากลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโครงสร้างอำนาจและบรรทัดฐานของสังคมถูกทำลายไปจนหมด เราจะเอาชีวิตรอดได้ยังไง

มันสะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่ตรงกับประเด็นปัญหาและเหมือนเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า แม้ว่ามันจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับซอมบี้ หรืออาจเป็นเพราะมันเป็นหนังสือเกี่ยวกับซอมบี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าอะไรที่ทำให้มันดูน่าติดตามแบบนี้” การ์ดเนอร์เล่า

ขอบเขตที่กว้างขวางของเรื่องนี้ยังทำให้ไคลเนอร์ ผู้คุ้นเคยดีกับหนังสือของบรูกส์ รู้สึกทึ่ง ขณะที่ได้อ่านหนังสือที่คู่กันอย่างเรื่อง The Zombie Survival Guide
สัดส่วนต่างๆของโลก การคาบเกี่ยวกันของซอมบี้ การเมือง และสถาบันต่างๆ ทำให้เรารู้สึกทึ่ง และยังเพิ่มองค์ประกอบที่ทั้งเท่และมีความร่วมสมัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ไม่ธรรมดาลงไปในเรื่องราวของซอมบี้” ไคลเนอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี วิธีการเล่าเรื่องที่เป็นเหมือนการให้การของหลายบุคคล ใช่ว่าจะแปลงมาเป็นบทภาพยนตร์ได้ง่ายๆ ในที่สุด ทีมผู้สร้างเลือกที่จะเล่าเรื่องราวนี้ผ่านตัวละครเอกเพียงตัวเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครมากมาย แต่ยังคงพยายามที่จะรักษาหัวใจของธีมต่างๆ และประเด็นของพลอตเรื่องที่เคยทำให้พวกเขาติดอกติดใจเอาไว้

เห็นได้ชัดมากเลยว่าโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้จะต้องเป็นความท้าทายในการดัดแปลงบทอย่างแน่นอน เราพยายามติดตามการเล่าเรื่องราวของหนังสือ แต่เราพบว่าความตึงเครียดทางอารมณ์ดราม่านั้นหายไป อย่างน้อยก็ในแง่ของงานภาพยนตร์ เราจำต้องย้อนกลับไปถึงตอนที่เกิดเชื้อซอมบี้แพร่ระบาด และทำให้มันกลายเป็นจุดใจกลางของภาพยนตร์ เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อจะเล่าเรื่องนี้ออกมาให้สมจริง ดังนั้นมันจึงให้ความรู้สึกว่าเรื่องราวนี้สามารถเกิดขึ้นกับพวกเราในปัจจุบันได้ เกิดขึ้นกับผู้คนที่เรารู้จัก และขณะที่โครงสร้างเรื่องต่างออกไป ฉันหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะกระตุ้นความรู้สึกที่เราเคยมีเมื่อเราได้อ่านหนังสือของแม็กซ์เรื่องนี้” การ์ดเนอร์บอก

ขณะที่ยังคงทำงานเรื่องบทอยู่นั้น ทางทีมผู้สร้างตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะทาบทามผู้กำกับ และพวกเขาเลือก มาร์ค ฟอร์สเตอร์

มาร์คเห็นพ้องกับพวกเราว่าเขาทุ่มเทที่จะวางเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ในโลกจริงๆ และยังคงรักษาความเป็นไปได้ของเรื่องนี้เอาไว้” การ์ดเนอร์เล่า

ผมนับถือมาร์คในฐานะผู้กำกับที่สร้างภาพยนตร์ที่แตกต่างกันหลายแนว แต่ยังคงมีลักษณะร่วมกันในการนำเสนอประเด็นปัญหาหลักๆ ของมนุษย์ อย่างเช่น ครอบครัว ความรัก การสูญเสีย ผมว่าเขานำเอาลักษณะที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์แบบนี้มาใส่เอาไว้ในภาพยนตร์ของเรา และผมว่าการเปิดกว้างของเขา การที่เขาไม่มีทัศนคติในเรื่องข้อจำกัดของภาพยนตร์ซอมบี้ มันช่วยได้มากทีเดียว” ไคลเนอร์เล่าเสริม

แพลนบีเริ่มต้นด้วยการส่งหนังสือเรื่องนี้ไปให้ฟอร์สเตอร์ และเช่นเดียวกับพวกเขา ฟอร์สเตอร์ติดอกติดใจมากทีเดียว

ผมคิดว่ามันเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก และพูดถึงธีมต่างๆ ที่ผมสนใจจริงๆ” ฟอสเตอร์เล่า “ผมนั่งลงเพื่อคุยกับทีมของแพลนบี และเราเริ่มต้นคุยกันอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับว่าเราจะทำอะไรกับโปรเจ็กต์นี้ได้บ้าง ในตอนนั้นพวกเขาได้พัฒนาบทภาพยนตร์แล้ว ซึ่งพวกเขาได้นำมามอบให้ผม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการพูดคุยของพวกเรา ซึ่งสุดท้ายก็นำมาสู่การเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้

“หนังซอมบี้” กลายเป็นหนังที่มีแนวทางของตัวเอง และตอนนี้ มันกลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม ฟอร์สเตอร์เชื่อว่ามีเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังซอมบี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก และมีหนังซอมบี้ดีๆ มากมายหลายเรื่องที่ทำให้เขาเกิดความสนใจในโปรเจ็กต์นี้

ผมพบว่าหนังซอมบี้ดูน่าหลงใหลในแง่ที่ว่าพวกมันเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในยุค 70 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและระส่ำระสาย และตอนนี้ในเวลาที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงและความเคลือบแคลง ซอมบี้ได้รับความนิยม พวกมันเป็นเหมือนอุปมาอุปไมยที่ดี เป็นตัวแทนของจิตใต้สำนึก และสะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก พวกเรามนุษย์ปุถุชนก็เหมือนไม่รู้สึกตัวในหลายระดับและในที่สุด เราเองก็ต้องตื่นขึ้นมา” ฟอร์สเตอร์กล่าว

ผมไม่รู้จักคนที่ไม่เคยเห็นซอมบี้ ผมได้เห็นมันในโฆษณาอุปกรณ์เอาตัวรอดจากซอมบี้ในเดอะนิวยอร์กเกอร์ การเคลื่อนไหวประท้วง Occupy Wall Street ได้ปลุกตำนานเกี่ยวกับซอมบี้ขึ้นมากมาย และยังมีความสำเร็จอย่างสูงของ ‘The Walking Dead’ ซึ่งเป็นซีรีส์ที่มีเรตติ้งสูงสุดสำหรับรายการทางเคเบิลทีวี มันคือเส้นทางลาดที่พยายามจะมอบหมายอุปมาอุปไมยให้กับสิ่งที่ผมคิดว่าได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ก็เห็นได้ชัดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย ภาษาของโลกซอมบี้เข้าใจได้มากขึ้นในปัจจุบัน ผมว่าเป็นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ผู้คนติดหนึบกับจอทีวีและจอคอมพิวเตอร์ และหูฟัง ในความรู้สึกที่ถือว่าพื้นๆ ที่สุด พวกเขาเดินไปรอบๆ เหมือนซอมบี้โดยไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้กับมนุษย์คนอื่น สำหรับผมแล้ว อย่างน้อยโลกนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นที่ที่ไม่สลักสำคัญ ให้ความรู้สึกไม่มั่นคง ให้ความรู้สึกเหมือนมีคลื่นอารมณ์และพฤติกรรมลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่พวกเรา และมันเกิดขึ้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ แต่มันมีรากฐานเพราะความรักที่ผู้คนมีต่อเรื่องแนวนี้ สำหรับผม ‘World War Z’ มีความจริงจัง จริง และสนุก และเดินเรื่องตื่นเต้นไม่หยุด เป็นเรื่องแนวเอพิคที่ยิ่งใหญ่ น่ากลัว และผมหวังว่าในที่สุดแล้วมันจะเป็นเรื่องที่น่าพอใจ” การ์ดเนอร์บอก

อันที่จริง ส่วนประกอบที่เป็นเสน่ห์แรกเริ่มของโปรเจ็กต์นี้ในความคิดของพิตต์ ก็คือ ฉากแอ็กชั่นและการแข่งขันกับเวลาที่ทำให้หัวใจเต้น “ซอมบี้พวกนั้นน่ากลัวมาก และผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้ก็ดูสนุกในหลายระดับด้วยกัน” พิตต์บอก “แต่โดยส่วนที่สำคัญ มันคือความสนุกในช่วงซัมเมอร์ และบอกตามตรง มันคือสิ่งที่ผมอยากทำออกมาเพื่อให้ลูกชายของผมได้สนุกไปกับมัน

สุดท้ายแล้ว ฟอร์สเตอร์ยังลังเลที่จะจัดประเภทของ World War Z เอาไว้ว่าเป็น “หนังซอมบี้

มันไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับซอมบี้เท่านั้น แต่มันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับหายนะของโลกที่บังเอิญถูกแพร่กระจายโดยซอมบี้” ฟอร์สเตอร์บอก

มีการเทียบเคียงกันมากมายต่อสิ่งที่พวกเราต้องเจอในชีวิตประจำวันที่คล้ายกับใน ‘หนังซอมบี้’ แต่ความยอดเยี่ยมของหนังสือของแม็กซ์ ก็คือ เขาวางเรื่องเอาไว้ในกรอบเวลาที่สมจริง และภายในกรอบงานที่อิงอยู่กับความจริง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมสนใจ ผมอยากสร้างหนังที่ให้ความรู้สึกจริง เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน เรื่องราวทั่วๆ ไปก็คืออะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ใดก็ได้ ในวันใดก็ได้ ไม่มีใครรอดไปได้ ทุกคนมีความอ่อนไหว นั่นคือโครงร่างพลอตเรื่องของหนังเรื่องนี้ แต่มันยังเป็นชีวิตจริงอีกด้วย” ฟอร์สเตอร์บอก

4 comments

  1. ในฐานะคนที่อ่านหนังสือมานะครับ ฉบับแปลไทย แปลไม่ค่อยสนุกเลย
    ดังนั้นจึงเป็นหนังสือที่ผมใช้เวลาอ่านนานมากๆ เพราะบางบทไม่ชอบเลย
    (โดยเฉพาะเรื่องพวกบทเศรษฐศาสตร์) ดังนั้นจึงไม่อาจบอกได้เต็มปากว่า
    นิยายสนุกจริงหรือไม่ มันอาจจะไม่สนุกจริงๆ หรืออาจเพราะแปลไทยไม่ค่อยสละสลวยก็ได้

    ส่วนที่สนุกต่อไม่สนุกผมให้ 40/60 ละกันครับสำหรับฉบับนิยาย
    บทที่ผมชอบจนวางไม่ลงเช่น บทหนุ่มโอต่าคุญี่ปุ่น และบทคนตาบอด, บทแม่มายเจ้าของบ้านจัดสรร, บทเด็กน้อยที่หลบภัยในอุทยานป่าไม้ของแคนาดา, บทเรือดำน้ำจีน, บทเปิดตัวที่จีน, บทที่อินเดีย
    นอกนั้นจะเต็มไปด้วยความน่าเบื่อมากกว่า เหตุการณ์ค่อนข้างก้าวกระโดดไปมาเพราะดำเนินเรื่องแบบ
    การสัภาษณ์ แต่คนจะสนุกกับนิยายเรื่องนี้ได้ ถ้านำแต่ละส่วนมาประติดประต่อกัน
    แต่โดยรวมผมค่อนข้างผิดหวังกับนิยายฉบับแปลไทยมากครับ เพราะหวังไว้สูงมากๆ

    ก็รอลุ้นครับว่าภาพยนตร์มันจะเป็นยังไง นับว่าเป็นสิ่งที่ดีครับที่ได้รับผลตอบรับดีมากจากงานรอบฉาย เพราะหลายๆคนอาจจะรู้สึกแบบผมได้ว่า “จากหนังสือที่ไม่ค่อยกลมกล่อมเท่าไหร่และไม่รู้ว่าจะดำเนินเรื่องให้เป็นหนึ่งเดียวยังไง สามารถกลายมาเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความบันเทิงได้ดีเรื่องหนึ่งอย่างเหนือคาด” ก็เป็นได้ครับ

    และทำให้ผมคาดหวังกับหนังเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก หลังจากอกหักมาจากฉบับหนังสือแปลไทยเข้าเต็มเปา

  2. หลังจากได้ดูตัวอย่างหนังในโรงหนังล่ะ ผมว่าหน้าหนังไม่ได้เห่ยเลย

    กลับรู้สึกว่าน่าดูมากๆด้วย

Leave a Reply