JEDIYUTH’s Review: The Master บารมีสมองเพชร

Joaquin PhoenixThe Master ผลงานเรื่องที่ 6 ของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน เป็นงานภาพยนตร์ที่มีงานสร้างใหญ่โตที่สุดของเขาก็ว่าได้ มีทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม มีงานกำกับภาพที่สวยงามและเท่ มีการตัดต่อที่น่าสนใจ แต่ตลอดเวลาของการชมหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่หนักอึ้งมาก และผมคิดว่าหนังทำได้ไม่สำเร็จในแง่สร้างผลกระทบทางอารมณ์เท่าไหร่ ผมรู้สึกเข้าไม่ถึงอารมณ์ของหนังในหลายๆ ฉาก เราได้ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและมีงานสร้างที่ดี มีการแสดงที่ยอดเยี่ยม แต่สิ่งที่เห็นบนจอไม่อาจทำให้เราเข้าถึงหรือมีอารมณ์ร่วม บางครั้งแห้งแล้ง และยิ่งหนังมีเนื้อหาหนักด้วยแล้วยิ่งทำให้เบื่ออย่างมากในช่วงท้ายมากๆ

ผมรู้สึกหลังจากชมหนังจบว่าพอล โธมัส แอนเดอร์สัน พยายามจะสร้างเทคนิคการเล่าเรื่องบางอย่าง หรืออยากฉีกความจำเจบางอย่างในการเล่าเรื่องหนัง หรือพยายามจะสร้างสรรค์ลูกเล่นที่แปลกใหม่ แต่ไม่อาจประกอบมันให้ส่งเสริมการเล่าเรื่องได้มีประสิทธิแก่ผู้ชมได้เท่ากับที่เดวิด ฟินเชอร์ สร้างให้ The Social Network 

มันเหมือนกับว่าแอนเดอร์สันร้อนวิชา และอยากใส่ฉากเหล่านั้นเข้ามา เพราะมันเป็นฉากที่เท่ พิศดาร และล้ำ มันดูสร้างสรรค์มากเมื่อดูเป็นฉากๆ เช่นฉากมอเตอร์ไซค์, ฉากภาพในหัวของตัวละคร ฉากกองทราย แต่เมื่อมองเป็นองค์รวม มันกลับลดทอนอารมณ์ที่ควรเป็นอารมณ์หลักของหนัง หรือทำให้แกนของหนังไม่เด่นมากพอ หลายครั้งที่เป็นการให้รายละเอียดที่ไม่จำเป็น และหลุดจากสิ่งที่ควรโฟกัสจริงๆ แม้ว่าฉากเหล่านั้นจะถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างเก๋แค่ไหนก็ตาม

หนังน่าจะพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคน นั่นก็คือเฟร็ดดี้ เควลล์ (ฮัวควิน ฟีนิกซ์) และ แลนเชสเตอร์ ด็อดด์ (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน) ชายสองคนที่ต่างกันสุดขั้ว เฟร็ดดี้เป็นทหารเรือหนุ่มที่เหมือนมีปัญหาทางจิตนิดๆอยู่แล้ว และเป็นคนหุนหัน ทำอะไรตามอารมณ์และตามใจด้วยเองเป็นหลัก แต่หลังจากไปรบมา อยู่กลางทะเลนับเดือนปี เห็นการฆ่าฟัน ทำให้อาการของเขาหนักยิ่งขึ้น เหมือนกลายเป็นคนเป็นโรคล้าสงครามเพิ่มเข้ามาจากความไม่ปกติเดิม ทั้งยังติดเหล้าและชอบทำเหล้าเถื่อนด้วย มีท่าทางเหมือนเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย ที่บางขณะก็เก็บกดความเจ็บปวดหรือความโกรธเอาไว้แบบที่เหมือนคลื่นใต้น้ำอันน่ากลัว บางขณะก็ระเบิดออกมาด้วยอารมณ์รุนแรงเหมือนภูเขาไฟปะทุ

ส่วนแลนเชสเตอร์เป็นชายหนุ่มที่พูดจาน่าเชื่อถือ มีพลังในการโน้มน้าวสูง อุปโลกน์ตัวเองเป็นเจ้าพ่อลัทธิความเชื่อที่เชื่อเรื่องภพชาติ และใช้เสน่ห์ในการชักจูงผู้คนให้คล้อยตามจนมีสานุศิษย์มากมาย แต่เบื้องหน้าที่ดูเต็มไปด้วยความมั่นใจ แลนเชสเตอร์มีความกลัวและหวาดหวั่นซ่อนอยู่ เพราะเขารู้ลึกๆว่าความเชื่อต่างๆ ที่เขาสร้างให้คนเชื่อตามนั้น เป็นสิ่งที่เขาอุปโลกน์ขึ้นเพื่อใช้หากิน ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นที่ยอมรับว่าได้ผลจริง เหมือนกับที่เขาพยายามจะใช้เฟร็ดดี้เป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นถึงวิธีการรักษาคนที่มีปัญหาทางอารมณ์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็สรุปว่าเพราะเฟร็ดดี้เป็นสัตว์ป่าที่ไม่อาจทำให้เชื่องได้ หรือเพราะเฟร็ดดี้ไม่ได้อยากหาย แต่ไม่ใช่เพราะวิธีการรักษาของเขา

หนังให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการรักษาเฟร็ดดี้มากไป หรือไม่ใช้การรักษามาช่วยให้คนดูได้เห็นถึงความผูกพันระหว่างเฟร็ดดี้กับแลนเชสเตอร์มากพอ และหลายครั้งก็อธิบายมากเกินไปถึงสภาพจิตใจของเฟร็ดดี้ ที่บางฉากทำออกมาดูดีมาก แต่ไม่มีความจำเป็นในแง่ส่งเสริมองค์รวมของหนัง เมื่อหนังจะเน้นมันในช่วงท้ายก็กลายเป็นฉากที่แห้งแล้ง เพราะระหว่างตรงกลางนั้น หนังค่อนข้างถูกละทิ้งแกนสำคัญนี้ไป และแกนสำคัญนี้ก็เป็นสิ่งที่ดึงคนดูให้เข้าถึงหนังได้ดีกว่า ยิ่งพอหนังใช้ลูกเล่นที่เป็นท่ายากในการเล่าเรื่อง ยิ่งทำให้ผมต้องตั้งสมาธิและพยายามทำความเข้าใจหนังมากกว่าปกติขึ้นไปอีก ซึ่งอย่างที่บอกครับว่ามันทำให้หนังหนักเกินความจำเป็น

ส่วนที่ดีที่สุดของหนัง ผมยกให้การแสดงของสามนักแสดงหลักอย่างฟีนิกซ์, ฮอฟแมน และเอมี่ อดัมส์ ในบทเพ็กกี้ ภรรยาของแลนเชสเตอร์ ที่น่าจะทำให้ทั้งสามมีชื่อได้เข้าชิงออสการ์ในปี 2013 ฟีนิกซ์ใช้เทคนิคการแสดงและการสร้างบุคลิกตัวละครที่ทำให้เรานึกถึงนักแสดงอมตะอย่างมาร์ลอน แบรนโด สร้างบุคลิกตัวละครที่ให้รายละเอียดตั้งแต่วิธีการพูดไปจนถึงการยืน การท้าวเอว การเงยหน้า แล้วทำให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติจนเราเชื่อว่ามีคนเช่นนี้อยู่จริงๆ เป็นการแสดงตัวละครที่น่าจดจำอย่างมาก เช่นเดียวกับฮอฟแมน และอดัมส์ ก็สร้างบุคลิกตัวละครที่ดูน่าเชื่อ และมีพลัง

อดัมส์ได้บทที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็นเธอเล่นด้วย เป็นบทของผู้หญิงที่เหมือนนั่งอยู่หลังฉาก เหมือนเลดี้แม็คเบธในบางขณะ และแผ่รังสีความอิจฉาริษยาในตัวเฟร็ดดี้ที่ได้ความสนใจจากแลนเชสเตอร์ไปมากกว่าเธอได้แบบนิ่งๆ แต่เต็มไปด้วยพลัง

อีกอย่างที่ชอบก็คือการกำกับภาพและการถ่ายภาพของมิไฮ มาไลแมร์ จูเนียร์ ผมชอบที่หนังใช้ระบบ 65 ม.ม. มาทำให้หลายฉากงามอลังการและดูยิ่งใหญ่คล้ายหนังของเดวิด ลีน และ The Master ก็น่าจะได้เข้าชิงออสการ์ในสาขานี้ด้วยเช่นกันครับ

โดยสรุปแล้ว ผมคงไม่แนะนำให้ผู้ชมทั่วไปไปดูหนังเรื่องนี้ มันเข้าถึงยากเกินไป แต่สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องภาพยนตร์ และนักดูหนังตัวยง หนังเรื่องนี้มีลูกเล่นแพรวพราวที่น่าศึกษามาก นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังเหมาะแก่ผู้ที่ศึกษาด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์มาก หนังให้รายละเอียดดีมาก ทั้งในเชิงจิตวิทยาและเชิงพฤติกรรมของตัวละครที่มีอาการของคนคุ้มดีคุ้มร้ายครับ

คะแนน: 7/10

ข้อมูลเบื้องต้น

The Master

ชื่อไทย: บารมีสมองเพชร

บริษัทจัดจำหน่าย: เอ็ม พิคเจอร์ส

เรต: R มีฉากโป๊เปลือย และความรุนแรงทางภาษา

กำหนดฉาย: 22 พฤศจิกายน 2555

ผู้กำกับ: พอล โธมัส แอนเดอร์สัน

นักแสดง: ฮัวควิน ฟีนิกซ์, ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน, เอมี่ อดัมส์, ลอร่า เดิร์น, ไรมี่ มาเล็ก และเควิน เจ. โอ คอนเนอร์

เว็บไซต์ทางการ: http://www.themasterfilm.com/

9 comments

  1. ผมดูเรื่องนี้แล้วมีแอบหลับ เนื่องจากความเหนื่อยล้าสะสมก่อนเข้าโรงหนัง…ประกอบกับเนื้อหาหนักอึ้งและการเล่าเรื่องที่ต้องความคิดผู้ชมเพื่อปะติดปะต่อเรื่องอยู่พอสมควร ตอนนี้ยังให้คะแนนไม่ถูกคงต้องหามาดูอีกทีตอนแผ่นออกล่ะครับเพราะขนาดหลับๆตื่นๆดูยังรู้สึกว่าหนังส่งพลังออกมาล้นจอจริงๆ สำหรับตอนนี้บอกได้แค่ว่ามันยังห่างชั้นจาก magnolia หรือ there will be blood อยู่มากครับ

  2. ผมเห็นด้วยกับคุณ Jediyuth ทุกประการครับ The Master เป็นหนังที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก และไม่บันเทิงเท่าไหร่นัก เพราะหนังไม่ได้การเล่าเรื่อง แต่เน้นการแสดงความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ซับซ้อนของ 2 ตัวละคร ที่อยู่คนละขั้วกัน รายละเอียดหลายอย่างสลับซับซ้อนมาก และแฝงสัญลักษณ์ที่ต้องตีความกันยืดยาว แต่ก็ชื่นชม พอล โทมัส แอนเดอร์สัน ที่สร้างผลงานที่มีทั้งความทะเยอทะยาน ไม่ย่ำอยู่กับที่ หลายฉากยังคงทรงพลัง และงานโปรดักชั่น โดยเฉพาะงานกำกับภาพยังคงสุดยอดเช่นเคย แต่โดยรวมๆ แล้วผมยังคงชอบ There will be blood ผลงานเรื่องก่อนของเค้ามากกว่าครับ

  3. JQ ให้การแสดงระดับสุดยอดครับ ด้วย method acting ที่แสดงความบิดเบี้ยว แตกสลายของจิตใจผ่านสู่ร่างกายได้มีพลัง น่าสมเพชเวทนามากๆ ชอบการสร้างคาแรกเตอร์ ท่าทาง การใช้น้ำเสียง โดยเฉพาะแววตาที่ส่อแววสัตว์ป่าดุร้าย ก่อนที่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแววตาของหมาผู้มอบใจให้นายแต่เพียงผู้เดียว ดูแล้วนึกถึงการแสดงของพระเอกร่วมรุ่น คริสเตียน เบลล์ ใน fighter ครับ คือเป็นตัวละครโดยสมบูรณ์ จนเรารู้สึกถึงพลังมหาศาลทะลุจอทุกครั้งที่ตัวละครแสดงอารมณ์ ออสการ์อยู่แค่มือเอื้อมครับ แต่ต้องระวังเจ้าพ่อ method ตัวจริง DDL ที่เค้าว่ากันว่าให้การแสดงระดับควรได้ออสการ์ตัวที่ 3

  4. พอดีผ่านมาอ่าน รู้สึกไม่เห็นด้วยกับบทความเกือบทั้งหมด

    ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจ ก็บอกว่าไม่เข้าใจ ไม่ใช่มาวิจารณ์ว่าฉากที่ใส่เข้ามาดูไร้ความหมาย

    อ่านแล้วเพลียจริงๆ

    • ที่รู้สึกเพลีย คือ มันไม่แฟร์ที่จะโยนความผิดให้กับหนัง ทั้งๆที่คุณไม่พยายามคิดหาความหมายก่อนด้วยซ้ำ

Leave a Reply