JEDIYUTH’s Review: The Girl with the Dragon Tattoo

ผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ หวนกลับคืนสู่หนังแนวสืบสวนสอบสวนเขย่าขวัญทางอาชญากรรมวิทยาอีกครั้งด้วย The Girl with the Dragon Tattoo หลังจากเคยทำ Se7enในปี 1995 และ Zodiac ในปี 2007 แต่แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องเนื้อหา ฟินเชอร์ก็ยังคงหาวิธีสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาไม่เพียงแตกต่างจากงานของคนอื่น แต่ยังแหวกแนวจากวิธีการเล่าเรื่องเดิมของตัวเองได้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ กลายเป็นผลงานที่น่าจดจำอีกชิ้น พร้อมกับได้สร้างนักแสดงดาวรุ่งดวงใหม่อย่างรูนี มารา ที่ส่งบทบาทการแสดงอันตราตรึงและมีเอกลักษณ์

หนังเปิดฉากด้วยวันที่มหาเศรษฐีนักอุตสาหกรรมใหญ่ระดับประเทศ เฮนริก แวงเกอร์ (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) ได้รับของขวัญวันเกิดจากผู้ที่เขาคิดว่าเป็นฝีมือของฆาตกรที่ลักพาตัวและฆ่าหลานสาวของเขาจนหายไร้ร่องรอยไปกว่า 36 ปี มีเพียงของขวัญที่เป็นกรอบเก็บดอกไม้แห้งส่งมาให้ทุกปี และเขาทนเป็นทุกข์ต่อไปไม่ไหวแล้วจนจำเป็นต้องหาคนมาสืบคดีนี้ให้กระจ่าง อันเป็นที่มาของคดีสืบสวนที่ทำให้มิเกล (แดเนียล เครก) และ ลิสเบธ (รูนี มารา) สองตัวละครเอกของเรื่องราวนี้มาพบกัน แล้วจากนั้นฟินเชอร์ก็นำเราเข้าสู่ฉากไตเติลของหนังที่ใส่เพลง Immigrant Song ที่เทรนท์ เรซนอร์ดัดแปลงขึ้นมาใหม่จากงานเก่าของเลด เซพพลิน ซึ่งมีการเล่นเทคนิคกราฟฟิกอันมืดหม่น น่ากลัว และร้อนแรงสะท้อนจิตใต้สำนึกของลิสเบธผู้เป็นที่มาของชื่อหนัง “สาวรอยสักมังกร” ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการบอกเราด้วยว่าหนังสืบสวนอาชญากรรมเรื่องนี้ จะแตกต่างกว่าทุกเรื่องที่คุณเคยดูมา เป็นการปูจิตใจของเราไปพร้อมๆ กันถึงความเข้มข้นและหนักหน่วงของเนื้อหาที่เรากำลังจะได้ดูครับ

ผู้ที่เฮนริกต้องการตัวให้มาสืบคดีการหายตัวไปของหลานสาวก็คือ มิเกล นักข่าวของนิตยสารข่าวมิลเลนเนียม สุดยอดนักขุดคุ้ย และมีไหวพริบในการสืบสวนเป็นเลิศ แต่เพื่อให้แน่ใจว่ามิเกลเป็นคนที่เหมาะสม เฮนริกได้จ้างวานบริษัทนักสืบให้สืบประวัติส่วนตัวของมิเกลก่อน ซึ่งลิสเบธ สาวยอดนักแฮ็คคอมพิวเตอร์ นักค้นคว้าข้อมูล และอัจฉริยะด้านการจดจำ คือผู้ที่บริษัทนักสืบจ้างให้ทำหน้าที่นั้น อันเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ทั้งคู่ได้มาพบกันในตอนหลัง

มิเกลกำลังเดือดร้อนเพราะถูกตลบหลังจากการเขียนข่าวเปิดโปงนักธุรกิจขี้ฉ้อคนหนึ่ง และกำลังถูกฟ้องร้องจนอาจต้องปิดสำนักพิมพ์ เมื่อเฮนริกยื่นมือเข้าช่วยโดยมีข้อเสนอที่เขาไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นก็คือข้อมูลลับของผู้ที่จัดฉากใส่ร้ายเขา มิเกลจึงยอมทำคดีนี้ ซึ่งมีผู้ต้องสงสัยหลักก็คือบรรดาคนในครอบครัวของเฮนริกเองที่ล้วนมีนิสัยแปลกประหลาดและไม่ลงรอยกัน โดยมิเกลจะทำทีว่ามาเขียนชีวประวัติให้เฮนริก เพื่อให้เขาได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ทุกคนมาประมวลกับข้อมูลคดีที่เฮนริกส่งให้

หลังจากสืบคดีไปได้สักระยะ มิเกลก็พบความจริงว่านี่อาจไม่ใช่คดีการหายตัวไปและการฆาตกรรมแบบธรรมดา แต่อาจเกี่ยวข้องกับลัทธิที่จับผู้หญิงมาบูชายัญของฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งก็มาถึงกลางเรื่องพอดีที่มิเกลจำเป็นต้องพึ่งนักค้นคว้าที่เก่งที่สุดที่เขาจะหาได้มาช่วยในการสืบค้นคดีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อมิเกลรู้ความจริงว่าลิสเบธเป็นผู้สืบประวัติของเขา และทึ่งกับข้อมูลที่ลิสเบธสามารถสืบได้ ทำให้เขาเดินทางไปหาลิสเบธให้มาช่วยทำคดีนี้

แม้ว่ากว่ามิเกลกับลิสเบธจะมาพบกันก็ตอนกลางเรื่องแล้ว แต่ระหว่างที่มิเกลสืบคดีในช่วงต้น หนังก็ตัดสลับกับเรื่องราวชีวิตของลิสเบธในระหว่างนั้นไปพร้อมกัน และทำได้อย่างกลมกลืนในการให้ทั้งสองเรื่องราวดำเนินคู่กันไปอย่างระทึกไม่แพ้กัน ซึ่งได้เผยชีวิตที่เป็นเหยื่อจากการข่มขืนและการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากเจ้าหน้าที่รัฐที่คุมประพฤติเธอ ลิสเบธเป็นผู้หญิงแกร่งที่เหมือนกับภาพภายนอกที่ดูแรง แต่เธอก็ฉลาดพอที่จะเสแสร้งเป็นผู้อ่อนแอกว่า และพร้อมจะแว้งกัดและเอาคืนอย่างสาสมจนเป็นฝ่ายขึ้นมามีอำนาจเหนือกว่าผู้ชายที่ทำร้ายเธอ หนังปูเรื่องราวของเธอมากพอที่จะทำให้เธอตกลงช่วยมิเกลทำคดีทันทีเมื่อรู้ว่าเหยื่อของคดีนี้ก็เป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณเช่นกัน

ฉากใหญ่ของเรื่องราวอาจเป็นการสืบสวนคดี แต่โดยแกนหลักของเรื่องแล้วพูดถึงความสัมพันธ์ของมิเกลกับลิสเบธที่ก่อตัวขึ้นมาจากคดีนี้ ลิสเบธเป็นผู้ที่สร้างกำแพงให้ตัวเองมาตลอดและไม่ยอมให้ใครมาถูกเนื้อต้องตัว ได้ยอมเปิดใจที่จะไว้วางใจมิเกล เพราะเธอพบว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์และมีความเป็นสุภาพบุรุษมากพอ เธอพร้อมกระโจนใส่เขาทันทีและสั่งให้เขามีเซ็กซ์ด้วยกันเมื่อเธอแน่ใจ และก็ยินดีเผยด้านที่อ่อนโยนของตัวเธอเองให้เขาเห็น พร้อมที่จะเปิดปากเล่าอดีตของตัวเองให้ฟัง ทั้งคู่เป็นเหมือนแม่เหล็กที่แตกต่างกันคนละขั้ว แต่มีบางสิ่งที่จูนหากันได้พอดีจนกลายเป็นคู่ที่เข้าขาทั้งเวลาที่อยู่ด้วยกันและร่วมกันทำคดี

รูนี มารา รับบทเป็นลิสเบธได้อย่างมีเอกลักษณ์ เธอได้สร้างบุคลิกตัวละครของลิสเบธได้อย่างน่าจดจำด้วยท่วงท่าเดิน กริยาอาการ และการพูดจาเฉพาะตัวของตัวละครในแบบเดียวกับที่แอนโธนี ฮอปกิน เคยสร้างให้ฮันนิบาล เลคเตอร์ จาก Silence of the Lambs และเธอยังได้ส่งบทบาทที่ชวนดึงดูดให้สนใจเธอทุกครั้งเวลาที่เธอขึ้นจอ เป็นคนที่คุมหนังทั้งเรื่องได้เหมือนกับที่เธอคุมผู้ชายในเรื่องของเธอ ยิ่งได้ภาพที่ดูแรงทั้งจากการแต่งตัวและทรงผมหน้าตามาช่วยเสริมยิ่งทำให้เธอเด่นกลบนักแสดงที่เข้าคู่ด้วยอย่างแดเนียล เครก ไปเลย แต่เครกเองก็รับบทมิเกลได้ดูน่าเชื่อและมีลีลาน่าติดตามเช่นกัน เพียงแต่บทมิเกลนั้นมีอะไรให้เขาได้เล่นน้อยกว่าบทลิสเบธของมารา

ผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์นั้นได้ชื่อว่าเป็นนักสร้างสรรค์ เขาเป็นคนที่คิดค้นวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ มาใช้จนกลายเป็นกระแสให้ทำตาม ดูตัวอย่างได้จากหนัง Se7en ที่ใช้ภาพรุนแรง ความกดดัน และโทนสีมาเป็นวิธีเล่าเรื่องจนกลายเป็นกระแสให้ผู้กำกับหลายคนทำตาม แต่ฟินเชอร์ไม่ได้ใช้วิธีการเช่นเดียวกันนั้นใน The Girl with the Dragon Tattoo แม้ว่าหนังจะมีด้านมืดและฉากรุนแรงไม่แพ้กัน สะท้อนให้เห็นถึงการไม่หยุดนิ่งของผู้กำกับผู้นี้ ถ้าเป็นผู้กำกับคนอื่นมาสร้างเรื่องนี้ เราอาจได้เห็นฉากชวนสยองมากมาย แต่ฟินเชอร์พยายามที่จะแสดงฉากเหล่านั้นให้น้อยที่สุด แต่สามารถสร้างบรรยากาศที่ชวนสะอิดสะเอียน กดดัน ไม่น่าไว้วางใจ และเขย่าขวัญได้ไม่แพ้กันด้วยการสร้างบรรยากาศ การกำกับศิลป์ และพึ่งการแสดงของนักแสดงในการเล่าเรื่องแทน รวมถึงการใช้ดนตรีที่หลอนและสร้างอารมณ์ได้ดีอย่างมากจากฝีมือของเทรนซ์ เรซนอร์ กับ แอตติคัส รอส มาเสริมให้เข้มข้นมากขึ้น ทำให้องค์ประกอบทางศิลป์และศาสตร์ทั้งหมดเด่นควบคู่ไปกับตัวนักแสดง

The Girl with the Dragon จึงเป็นงานอันโดดเด่นอีกชิ้นของฟินเชอร์ แม้ว่าจะยังไม่จี๊ดจ๊าดและสร้างมาตรฐานใหม่ได้เท่า The Social Network ผลงานเรื่องที่แล้วของเขาที่มีการใช้ลูกเล่นในการเล่าเรื่องแบบที่ฉีกขนบหนังแนวชีวประวัติและคดีความในศาลไปแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แต่ก็ยังถือว่าเป็นงานที่ยอดเยี่ยมอีกชิ้นในสิบปีหลังมานี้ของเขา

คะแนน: 9/10

ข้อมูลเบื้องต้น
The Girl with the Dragon Tattoo
ชื่อไทย: พยัคฆ์สาวรอยสักมังกร
กำหนดฉาย: 5 มกราคม 2555
ผู้กำกับ: เดวิด ฟินเชอร์
นักแสดง: แดเนียล เครก, รูนี มารา, คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์, สเตนแลน สการ์สการ์ด, สตีเวน เบิร์กคอฟ และ โรบิน ไรท์
เว็บไซต์ทางการ: http://www.dragontattoo.com/site/

10 comments

  1. เดวิด ฟินเชอร์ ทำให้เรื่อวนี้ได้กลายเป็นอีกเรื่องจากต้นฉบับ เพิ่มความอ่อนโยนให้ ลิชเบท ทำให้เข้าใจว่าเธอทำตัวเเกร่ง เเปลกเเยก เพราะไม่อยากให้ใครมายุ่งกับเธอ เเต่จิงเเล้วเธอคือ ผญ. คนหนึ่งนี้เอง เเละก็ได้เพิ่มความน่าเชื่อถือในการเป็นนักข่าวของ มิเกล มากขึ้นโดนการทำอไรฉับไวกระฉับกระเฉง เทคนิคด้านภาพบรรยากาศ สามารถ คุมโทนออกมาได้ดีเเทบไม่ต้องพึ่งฉากเเหวะหรือเรื่องของเหยื่อที่โดนทำร้ายเลย เเต่เข้มข้นขึ้นในด้านอารมตัวละคร ทำให้ ทั้ง 2 ตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สำหรับผม ชอบทั้ง 2 ฉบับ ทั่งเก่าเเละใหม่ดีไปคนล่ะเเบบ ครับ

  2. ดูฉบับสวีเดนแล้ว แต่ยังไม่ได้ดูฉบับของ ฟินเชอร์ครับ แต่เท่าที่อ่านบทวิจารณ์แล้ว คิดว่าน่าจะไม่มีฉบับใดดีกว่าหรือด้อยกว่ากันครับ แต่จะดีกันไปคนแบบ ดังเช่นที่คุณ Alert boy ได้ให้ความเห็นไว้ครับ

    • ฉบับนี้เปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มในสิ่งที่ฉบับสวีเดนไม่มี กับพวกรายละเอียดปลีกย้อยที่ อย่างเช่นห้องของฆาตกรอยู่ส่วนไหนของบ้านอะไรพวกนี้ ถ้าได้ดูทั้ง 2 ฉบับจะดีมากเลยครับ เหมือนมาเติมเต็มซึ่งกันเเหละกัน หนังจะบอกในสิ่งที่เรายังไม่รู้ เเต่จะไม่ไปซ้ำในสิ่งที่เรารู้เเล้ว ทำให้หนังเรื่องนี้กลมกล่อมมากยิ่งขึ้นครับ

  3. มาตราฐานของ The Social Network ทำไว้สูง แต่เรื่องนี้ก็ถือว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าเดิม โดยเฉพาะภาพและดนตรีประกอบ บีบอารมณ์มาก ๆ และแอบชอบประโยคที่ผู้ร้ายพูดกับพระเอกในตอนท้ายครับ 😀

  4. หนังเหมือนจะdarkแต่แกนก็เหมือนseriesเกาหลีดีๆนี่เอง พระเอก – นางเอกได้กัน แล้วก็ผิดใจกัน แล้วตอนหลังก็รักันอย่างมีความสุข หึหึหึ

Leave a Reply to WasanCancel reply